เมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ว่าการอำเภอแม่ฟ้าหลวง ผู้เฒ่าเชื้อสายอาข่าจากบ้านป่าคาสุขใจ ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย จำนวน 14 คน ได้เดินทางมาถ่ายบัตรประชาชน โดยเป็นการแปลงสัญชาติจากชนกลุ่มน้อยเป็นไทย ตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติสัญชาติ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้ระยะเวลาอย่างรวดเร็วเพียง 2 ปี เนื่องจากได้มีการแก้ไขหลักเกณฑ์สำคัญที่เป็นอุปสรรค ทั้งนี้บรรดาเป็นไปอย่างชื่นมื่นโดยผู้เฒ่าที่มีอายุ 72-79 ปี ต่างแต่งชุดชาติพันธุ์อาข่าอย่างสวยงาม โดยมีลูกหลานเดินทางจากหมู่บ้านเดินทางมาร่วมแสดงความยินดีที่บุพการีได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์

นางเตือนใจ ดีเทศน์ หรือ “ครูแดง” อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย และกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า ผู้เฒ่าที่ได้ถ่ายบัตรประชาชนครั้งนี้เป็นผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ซึ่งที่มีการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยได้ 175 ราย ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 และต่อมาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 19 ตุลาคม 2565 นั้น มีชนกลุ่มน้อยที่เป็นผู้เฒ่าไร้สัญชาติจากจังหวัดเชียงราย 32 ราย ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย กรมการปกครอง และกระทรวงมหาดไทย ในความร่วมมือด้วยดีระหว่างภาครัฐกับภาคประชาสังคมเพื่อแก้ปัญหาผู้เฒ่าไร้สัญชาติ

“…กรณีศึกษาผู้เฒ่าสัญชาติที่ดำเนินการโดยมูล พชภ.ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง 14 ราย และ อ.เชียงของ 3 ราย ใช้เวลาเพียง 2 ปี นับจากวันที่คณะทำงานระดับจังหวัดเห็นชอบ จากกรณีทั่วไปที่ใช้ระยะเวลามากกว่า 10 ปี อันเป็นผลจากการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการอนุญาตให้แปลงสัญชาติไทย ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติสัญชาติ เพื่ออำนวยความสะดวก มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมสำหรับผู้เฒ่าที่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยยาวนานกว่า 40-50 ปี มีความกลมกลืนกับสังคมไทย และมีลูกหลานเป็นชาวไทย…” นางเตือนใจ กล่าว

อดีตสมาชิกวุฒิสภาเชียงราย กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจึงเห็นชอบให้ปรับปรุงแก้ไขแนวทางประกอบการใช้ดุลพินิจในการอนุมัติการขอแปลงสัญชาติเป็นไทย สำหรับผู้เฒ่าอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เป็นชนกลุ่มน้อย ถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่ และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เพื่อลดปัญหา อุปสรรคในการยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติ ให้ยกเว้นเกณฑ์รายได้ การเสียภาษี การถูกตรวจสอบประวัติและความประพฤติโดย 5 หน่วยงาน และยกเว้นความรู้ภาษาไทยกลาง โดยให้ใช้ภาษาถิ่นไทยได้

นางเตือนใจ กล่าวว่า การแปลงสัญชาติของกรณีศึกษาผู้เฒ่าไร้สัญชาติในครั้งนี้เป็นความสำเร็จที่น่าชื่นชม แสดงถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย ตามการประกาศคำมั่นของผู้แทนไทย ในการประชุมสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR ) ข้อ 5 ที่จะแก้ปัญหาผู้สูงอายุไร้สัญชาติทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำการแก้ไขปัญหาการไร้รัฐ ไร้สัญชาติ เป็นสังคมที่เคารพสิทธิมนุษยชน ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมสุขภาวะของกลุ่มเปราะบาง-ผู้สูงอายุ

นายอาเมีย แซ่แบว ผู้เฒ่าวัย 72 ปี หรือที่รู้จักกันว่า “อาบอจะข่า” ช่างตีเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของชาวอาข่าในประเทศไทยและเมียนมาซึ่งเดินทางมาถ่ายบัตรประชาชนเป็นครั้งแรก กล่าวด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นว่า ตอนนี้รู้สึกหัวใจพองโต รู้สึกโล่งใจ สบายใจ ดีใจมากๆ ที่ได้เป็นคนไทยอย่างถูกต้อง แต่คนที่ดีใจมากกว่าน่าจะเป็นลูกหลาน เพราะว่าพ่อแม่ก็ได้สมหวังในสิ่งที่ปรารถนา แล้วก็ได้เป็นไทยแท้ ลูกหลานที่ไปทำงานหรือไปข้างนอก ไปทำงานในเมือง นายจ้างหรือคนอื่นก็มักจะถามว่าพ่อแม่มีสัญชาติอะไร เมื่อต้องลงเอกสารว่าพ่อแม่เป็นพม่า ลูกหลานก็จะไม่ค่อยสบายใจ ตอนนี้ทุกคนสบายใจได้เป็นคนไทย พร้อมที่จะทำหน้าที่ประชาชนไทยให้ดีที่สุด

“…ชนเผ่าเรามีความเชื่อด้วยว่า ตอนนี้สถานะของลูกหลานตามกฎหมายเป็นคนไทยถูกต้อง หากพ่อแม่ยังไม่มีสัญชาติไทย ถือว่าอยู่คนละสถานะ หากตายไป ก็มีความเชื่อว่าจะไปอยู่คนละภพคนละภูมิ คนละสถานะ ไม่มีทางได้เจอกัน แต่ในวันนี้ที่ได้ถ่ายบัตรประชาชนไทยอย่างถูกต้อง ก็อุ่นใจว่าเวลาตายไปก็จะได้เจอกัน ได้อยู่ด้วยกัน ถือว่าตายตาหลับแล้ว…” ช่างตีเงินชาติพันธุ์อาข่า กล่าว

ขณะที่ นางอาเบอะ หม่อปอกู่ อายุ 71 ปี กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้บัตรประชาชน ซึ่งตอนนี้อายุเยอะแล้วจึงอยากได้เบี้ยผู้สูงอายุซึ่งขณะนี้ลูกหลานต่างได้บัตรประชาชนกันหมดแล้ว

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี พงค์ กูลนรา นายอำเภอแม่ฟ้าหลวงกล่าวว่าในพื้นที่มีประชากร 7.7 หมื่นคน และมีผู้ไม่มีสัญชาติ 1.5 หมื่นคน อย่างไรก็ตามในส่วนของคนเฒ่านั้น มีอยู่ประมาณ 705 คน และได้ส่งเรื่องไปจังหวัดแล้ว 573 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 132 คน

นายอาเจอะ มอป่อกู่ ผู้ใหญ่บ้านป่าคาสุขใจกล่าวว่า พ่อเฒ่าแม่เฒ่าที่ได้บัตรประชาชนในครั้งนี้ 14 คน แต่ยังเหลืออีก 5 คนที่ยื่นคำร้องขอแปลงสัญชาติในชุดเดียวกันซึ่งไม่แน่ใจว่าทำไมถึงได้ไม่พร้อมกัน

“คนในหมู่บ้านต่างรู้สึกภาคภูมิใจที่พ่อเฒ่าแม่เฒ่าได้รับบัตรประชาชนในครั้งนี้ เพราะพวกเราคอคอยกันมานานและไม่เคยคิดเคยฝันว่าพวกท่านจะได้รับบัตรประชาชนไทยเพราะพูดภาษาไทยก็ไม่คล่อง ถือว่าเป็นวันดีๆสำหรับพวกเรา” ผู้ใหญ่บ้านป่าคาสุขใจ กล่าว