นับถอยหลังการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 ที่ประเทศไทยรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 ..นี้ ถือเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจยิ่งใหญ่ระดับโลก ที่ทุกประเทศกำลังจับตา เพราะเป็นความร่วมมือ 21 เขตเศรษฐกิจ ที่มีประชากรครอบคลุมมากกว่า 2,800 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรทั่วโลก มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือจีดีพีคิดเป็น 59% จีดีพีทั้งโลก หรือมากกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่สำคัญยังเป็นการกลับมารวมตัวพบปะกันระหว่างผู้นำซีอีโอระดับโลกมารวมตัวกันอีกครั้งในรอบ 3 ปี

ขณะเดียวกันยังมีเวทีคู่ขนาน อย่างการประชุมสุดยอดซีอีโอแห่งภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก 2022 หรือ “เอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2022” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พ.ย.65 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเวทีสำคัญ เพราะมีผู้นำประเทศ มีซีอีโอที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้นำทางความคิดระดับภูมิภาคและระดับโลกจาก 21 เขตเศรษฐกิจนับพันคน มารวมตัวพบปะ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการค้าและเศรษฐกิจ รวมทั้ง…แสวงหาแนวทางการแก้ไขประเด็นที่สำคัญ และการจัดการกับความท้าทายที่ทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและทั้งโลกกำลังเผชิญร่วมกัน

กกร.เจ้าภาพชู 3 แนวคิด

ในเวทีนี้…คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้ทำหน้าที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อเสนอจากทุกเวทีประชุม เพื่อยื่นเสนอต่อผู้นำเอเปค โดยกกร.ได้เตรียมพร้อมจัดการประชุมกันอย่างเข้มข้น ภายใต้ 3 แนวคิดหลัก ประกอบด้วย
เอ็นเบรซ…คือ การสื่อถึงการเปิดรับโอกาสที่กำลังเข้ามาใหม่ เปิดกว้างความเชื่อมโยงของเครือข่ายพันธมิตรทางเศรษฐกิจ

เอ็นเกรด…คือ การสื่อถึงการรวมพลังความคิดสร้างสรรค์ ร่วมมือ ร่วมใจ เพื่อสรรค์สร้างทิศทางเศรษฐกิจใหม่แห่งอนาคตร่วมกัน และ

เอ็นเอเบิล…คือ สื่อถึงการขยายข้อจำกัดความสามารถทางเศรษฐกิจ ให้การดำเนินการทางธุรกิจสามารถเป็นไปได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม

ไทยดันบีซีจีวาระแห่งชาติ

สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย บอกว่า การรวมตัวของภาคธุรกิจในทุกระดับครั้งนี้จะช่วยสร้างสรรค์เศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยไทยเตรียมผลักดันแนวคิดบีซีจี โมเดล หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นแนวทางทำธุรกิจ ที่คำนึงสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องใส่ใจ ซึ่งหลายคนยังไม่เข้าใจ จึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจ และร่วมมือกันทำให้เห็นผลโดยเร็ว โดยเป้าหมายหลักของงานนี้ จะเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการเปิดเขตเสรีการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือด้านสังคมและการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งความร่วมมือด้านการเกษตร การส่งเสริมบทบาทสตรีในเศรษฐกิจ การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการพัฒนาด้านสาธารณสุข เพื่อนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน และสร้างความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาค

เวทีใหญ่ดันไทยมีชื่อ

ขณะเดียวกัน…ยังเป็นโอกาสในการประชาสัมพันธ์ประเทศ ไทยให้ทั่วโลกได้เห็นศักยภาพในด้านต่าง ๆ ช่วยส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เพิ่มตัวเลขภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงกระตุ้นการค้าและการส่งออก แน่นอนว่า การเข้ามาร่วมประชุมของนักธุรกิจต่างชาติ  ย่อมทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจซึ่งเป็นแรงเหวี่ยงที่สำคัญในการฟื้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้เป็นจำนวนไม่น้อยทีเดียว

“การที่ภาคเอกชนไทยเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท ในปีนี้ จะช่วยเปิดโอกาสการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวให้แก่ผู้ประกอบการไทยและคนไทยทั่วประเทศ ทั้งในเรื่องของการต่อยอดทางการค้า และกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยว โดยภาคเอกชนเห็นว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการเข้าไปช่วยยกระดับให้กับบรรดาเอสเอ็มอีให้มีความเข้มแข็งและแข่งขันได้ ด้วยการนำเอาดิจิทัล ทรานฟอร์เมชั่น มาช่วยบริหารจัดการ เพิ่มโอกาสให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก ส่วนนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเร็วขึ้น”

title

เอแบคคู่ขนานเคลื่อน ศก.

ด้านประธานเอเปค ซีโออี ซัมมิท 2022 ของไทย อย่าง “พจน์ อร่ามวัฒนานนท์” รองประธานกรรมการหอการค้าไทย บอกเพิ่มเติมว่า การจัดประชุมของภาคเอกชน ในนามกกร. จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 13-16 พ.ย. 65 โดยเป็นการประชุม สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (เอแบค) เพื่อสรุปข้อเสนอจากการรวบรวมความคิดเห็น เพื่อนำเสนอผู้นำเศรษฐกิจเอเปค จากนั้นในวันที่ 16-18 พ.ย. จะเป็นเวทีของเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2022 ที่ได้เชิญผู้นำเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจร่วมกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับมิติต่าง ๆ ของเขตเศรษฐกิจนี้ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงผู้นำจากประเทศอื่นนอกเหนือ 21 เขตเศรษฐกิจด้วย ทั้งในเรื่องของเศรษฐกิจโลกและอนาคตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก นวัตกรรมแนวหน้าในอนาคต รวมไปถึงอนาคตของการค้าและการลงทุนในเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของทุกคน เช่น ระบบสาธารณสุขและสุขภาพในภูมิภาค เพื่อรับมือกับปัญหาโรคระบาดในอนาคต, การสร้างความเท่าเทียมทางเพศเพื่อผลักดันการเติบโต และยังรวมถึงความยั่งยืน เช่น ยุทธศาสตร์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ความท้าทายเรื่องความมั่นคงด้านอาหารของโลก, ความมั่นคงด้านพลังงาน, การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจท้าทายทางดิจิทัล

เอกชนชง 69 ข้อ 5 ด้าน

เกรียงไกร เธียรนุกูล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (...) ย้ำว่า ในเวทีเอแบค ทางภาคเอกชนได้จัดทำข้อเสนอทั้งหมด 69 ข้อ ให้ความสำคัญกับ 5 หัวข้อหลัก เพื่อนำเสนอคณะมนตรีแต่ละเขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค เน้นการอำนวยความสะดวกการเปิดเอฟทีเอ โดยการผลักดันให้เกิดเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอฟทีเอเอพี การส่งเสริมประสิทธิภาพการค้าการลงทุนด้านการบริการ และมาตรการการเดินทางและข้อปฏิบัติด้านสาธารณสุขที่สอดคล้องกันในภูมิภาค เพื่อให้การเปิดการเดินทางข้ามพรมแดนเป็นไปอย่างสะดวกและปลอดภัย

ด้านดิจิทัล เน้นการเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการนำข้อมูลประจำตัวดิจิทัลที่เชื่อถือได้มาใช้ในการทำงานร่วมกัน และการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์และการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดนที่ปลอดภัย ขณะที่ ด้านไมโครเอสเอ็มอี ที่ต้องการฟื้นฟู พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย หลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโควิด-19 และส่งเสริมการมีบทบาททางเศรษฐกิจของผู้หญิง เยาวชนและกลุ่มที่ยังไม่ได้รับโอกาส เน้นการเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติที่ยั่งยืน รวมทั้งพัฒนามาตรการ เพื่อสนับสนุนการเติบโตต่อเนื่อง ภายใต้กรอบการทำงานและการค้าระดับโลก รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การฝึกอบรม การบูรณาการเข้ากับห่วงโซ่คุณค่า

นอกจากนี้ยังมี ด้านความยั่งยืน ที่เน้นการนำสังคมไปสู่เน็ต ซีโร่ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ พร้อมทั้งยังส่งเสริมให้มีความมั่นคงทางพลังงานและอาหารในอนาคต และ ด้านเศรษฐกิจและการเงิน ที่ส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจรวดเร็วและยั่งยืนโดยให้ความสำคัญของการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ และนโยบายทางการเงินด้านอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยในระยะยาว คณะทำงานเชื่อว่ารัฐบาลควรปฏิบัติตามสองเป้าหมาย คือ การเพิ่มศักยภาพทางการคลัง และการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปฏิรูปโครงสร้างในการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลและความยั่งยืนอย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม ผลของการประชุมครั้งนี้ ภาคเอกชนจะไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม เนื่องจากเวทีนี้ ภาคเอกชนทำหน้าที่ให้คำปรึกษา และข้อเสนอแนะต่อผู้นำ ในประเด็นด้านการค้า การลงทุน หรือประเด็นที่ได้รับความสนใจ และนำไปสู่การผลักดันอย่างเป็นรูปธรรมในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงสะท้อนมุมมอง ปัญหา และการพัฒนาที่จะเอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจเอเปคเท่านั้น

ถือได้ว่า การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคซีอีโอ ซัมมิท ครั้งนี้ จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ไทยกลับมาเฉิดฉายเป็นสปอตไลต์ของเวทีโลกอีกครั้ง เชื่อว่า คนไทยทุกคนในฐานะเจ้าบ้าน จะร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนให้ทุกอย่างราบรื่น บรรลุข้อตกลงร่วมกัน เพื่อเกิดประโยชน์ให้มากที่สุดกับทุกภาคส่วน.

กระตุ้นเศรษฐกิจไทยแน่นอน

ปิติ ศรีแสงนาม” คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ผลที่ได้จากการประชุมเอเปคที่เกิดขึ้นทันที ไม่ต้องรอการประชุมสุดยอดผู้นำ นั่นคือ ตลอดทั้งปี มีคณะของ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปคในทุกระดับที่มาประชุมกันรวมแล้วกว่า 14 คลัสเตอร์ ตั้งแต่เจ้าหน้าที่จนถึงรัฐมนตรี และผู้นำของประเทศ รวมทั้งกองทัพสื่อได้เดินทางเข้ามาในประเทศ เข้าทางประชุม เข้ามาใช้บริการต่าง ๆ ทั้ง อาหาร โรงแรม การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมของที่ระลึก ขนส่ง ภาคบริการ และภาคการผลิตของไทยก็ได้รับผลประโยชน์ไปแล้ว

ลองนึกภาพว่า แต่ละประเทศที่เข้ามาประชุมมีคณะทำงานตั้งแต่ 10 ราย จนถึงระดับผู้นำที่มีคณะทำงานหลักหลายร้อย ร่วมกับกองทัพนักข่าวอีกนับพัน ทั้งหมดคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจในประเทศไทยเกิดการขยายตัว และยังถือเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในเวทีโลกได้เป็นอย่างดี เพราะต้องอย่าลืมว่า โรงแรมทุกโรง อาหารทุกมื้อ ของที่ระลึกทุกชิ้น ภาคบริการเสริมที่เกี่ยวเนื่องกับการประชุม ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือและความตั้งใจอย่างดีที่สุดของชาวไทยที่จะนำเสนอต่อสายตาชาวโลก ขณะเดียวกันการประชุมครั้งนี้จึงเป็นการประชุมแบบพบปะ ถกแถลง เสวนาแบบเจอตัวเป็นครั้งแรกในรอบหลาย ๆ ปี ท่ามกลางระเบียบโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง”

พร้อมสนับสนุนเวทีประชุม

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ บอกว่า การที่ไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค และเอเปค ซีอีโอ ซัมมิท ครั้งนี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 และเป็นโอกาสให้ 21 เขตเศรษฐกิจและประเทศไทยได้เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับนานาชาติ โดยภาคธุรกิจอย่างเครือซีพีพร้อมสนับสนุนทุกภาคส่วนอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศไทย โดยเครือซีพีและบริษัทในเครือจะนำเสนอการดำเนินธุรกิจภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจี ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อแสดงให้ทั่วโลกเห็นถึงความมุ่งมั่นของเครือซีพีที่จะส่งเสริมการเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกมิติ  

ขณะที่บนเวที เอเปค ซีอีโอ ซัมมิท 2022 ในฐานะที่เป็นหนึ่งในซีอีโอ ตัวแทนจากประเทศไทย ได้ร่วมเป็นผู้นำในการแสดงความคิดเห็นแลกเปลี่ยนในประเด็นสำคัญที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของโลก คือเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหารด้วย ซึ่งในส่วนของเครือซีพีเองได้เข้าไปลงทุนในหลายเขตเศรษฐกิจของเอเปค จากธุรกิจหลากอุตสาหกรรม เครือฯ จึงเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ในฐานะภาคเอกชนที่ร่วมผนึกกำลังกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืนในทุกพื้นที่ของการลงทุนด้วย.

…ทีมเศรษฐกิจ…