เมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่กองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล (บก.สส.บช.น.) พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. หัวหน้าชุดปฏิบัติการที่ 5 PCT และตำรวจ PCT 5 ร่วมกันจับกุมนายชลวิชา ปานสมุทร หรือเบียร์ บ้านแพ้ว อายุ 32 ปี ชาว จ.สมุทรสาคร สมาชิกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำหน้าที่เป็นพนักงานสาย 3 ปลอมเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 2298/2565 ลงวันที่ 28 ต.ค. 65 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยการแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตฯ นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จฯ และร่วมกันฟอกเงินฯ พร้อมตรวจยึดทรัพย์สินประกอบด้วยสมุดบัญชีธนาคาร 2 เล่ม, แหวน กำไรและสร้อยโลหะคล้ายทองคำ น้ำหนัก รวม 8 บาท 3 สลึง, นาฬิกาข้อมือ 2 เรือน,เงินสด 2,619 บาท, ธนบัตรสกุลเงินดอลลาร์ 1 ดอลลาร์, ธนบัตรสกุลเงินเรียล 16,500 เรียลกัมพูชา, โทรศัพท์มือถือ 2 เครื่อง รวม 16 รายการ โดยจับกุมได้บริเวณลานจอดรถ ร้านเค้กบ้านสวน (ขาเข้าสระบุรี) ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมา

ล่าคอลเซ็นเตอร์แสบ หลอกอดีตผอ.ศูนย์แพทย์สูญเงินกว่า100ล้าน

สืบเนื่องจาก ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ศปอส.ตร. (PCT) ชุดที่ 5 ได้รวบรวมพยานหลักฐานยื่นต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ รวม 58 หมายจับ ซึ่งต่อมา เมื่อวันที่ 12 ก.ย. พล.ต.อ.วรรณวีระ สม ผู้ช่วย ผบ.ตร./ผบ.กองบัญชาการรักษาความมั่นคงภายใน ตำรวจกัมพูชา และคณะเดินทางมาพบ ผบ.ตร. ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประเทศไทย โดยวางแนวทางหารือเพื่อปฏิบัติการทลายแก็งคอลเซ็นเตอร์ และมีพยานหลักฐานยืนยันว่า ผู้ที่หลอกลวงให้โอนเงินในขั้นตอนสุดท้าย หรือเรียกว่าสาย 2 ทั้ง 2 คดีนี้ได้เงินไปกว่า 150 ล้านบาท คือ นายชลวิชา ผู้ต้องหา ซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานสาย 3 ที่ปลอมเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ผกก.สภ.เมืองเชียงราย ในขบวนการนี้ จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานจนนำมาสู่การออกหมายจับ

จากนั้น พล.ต.ต.ธีรเดช จึงประสานงานเร่งรัดให้ทางการประเทศกัมพูชาดำเนินการ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 17 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT เดินทางไปเมืองปอยเปต ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประเทศกัมพูชา เข้าปฏิบัติการทลายแก็งคอลเซ็นเตอร์ประตูดำดังกล่าว แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ไปถึง พบว่าหัวหน้าชาวไต้หวันได้สร้าง “ทางลับ” นำพาพนักงานคอลเซ็นเตอร์คนไทยหลบหนีออกไปจากตึกระหว่างที่เจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจค้น โดย นายชลวิชา สามารถหลบหนีออกจากตึกไปได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT 5 ได้ไล่ติดตามจนสืบทราบว่า หลบหนีเดินทางกลับประเทศไทย จึงนำหมายจับเข้าสืบสวนติดตามจับกุมตัวได้ในที่สุด

สอบสวนเบื้องต้น นายชลวิชา ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา ว่า ร่วมกันกับพวก หลอกลวงผู้เสียหายจริง โดยเริ่มต้นข้ามไปประเทศกัมพูชาทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันที่เมืองปอยเปต ประเทศกัมพูชา ทำเรื่อยมาตั้งแต่เดือน พ.ย.2564 ซึ่งช่วงเดือน ก.พ.2565 ถูกย้ายตึกทำงานประตูดำ และได้เริ่มหลอกลวงเป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์สาย 2 อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองเชียงราย ยศร้อยตำรวจโท แต่เมื่อทำมาได้ระยะหนึ่ง หัวหน้าชาวไต้หวัน เห็นถึงความสามารถในการหลอกลวงจึงเลื่อนขั้นเป็นเจ้าหน้าที่สาย 3 อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูง ยศพันตำรวจเอก โดยหลอกลวงผู้เสียหายว่า ผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจับกุมคดีอาชญากรรม โดยให้พนักงานสาย 1 อ้างเป็นพนักงานหรือบริษัทขนส่งเกี่ยวกับการส่งสิ่งของผิดกฎหมาย ส่วนสาย 2 อ้างเป็นร้อยเวรเจ้าของคดีและเก็บรวบรวมข้อมูลของผู้เสียหายส่งต่อให้สาย 3 ที่อ้างตัวเป็นผู้กำกับหรือรองผู้กำกับ เพื่อปิดยอด โดยจะมีทีมงานนำสคริปต์สนทนาการเจรจาพูดคุยที่แปลเป็นภาษาไทย มาให้อ่าน พร้อมหัดพูดคุยกับเพื่อนทีมงาน หากทำยอดได้มากถึง 1 ล้านบาท จะมีการจัดงานเลี้ยงหมูกระทะ เนื่องจากถือว่าเป็นอาหารที่พิเศษสุด เพราะทีมงานไม่สามารถออกไปด้านนอกได้

นายชลวิชา กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ทำงานเป็นแก็งคอลเซ็นเตอร์ สามารถหลอกลวงผู้เสียหายได้ประมาณ 7-8 ล้านบาทต่อเดือน และเคสใหญ่ๆ ที่หลอกได้มี 3 ครั้ง คือ 1.ช่วงประมาณ เดือน เม.ย.2565 หลอกลวง นางอำภา (สงวนนามสกุล) ข้าราชการครูเกษียณ ได้ประมาณ 11 ล้านบาท 2.ช่วงประมาณ เดือน ก.ค.2565 หลอกลวง นายชาญชัย (สงวนนามสกุล) นักลงทุนหุ้น ได้ประมาณ 41 ล้านบาท และ 3.ช่วงประมาณ ต้นเดือน ต.ค.2565 หลอกลวง นางรัชนี (สงวนนามสกุล) เป็นหมอ อยู่เมืองชุมพร ซึ่งเป็นเคสล่าสุดที่ได้หลอกลวง โดยตนรับว่าเป็นผู้หลอกลวงหลักในเคสนี้ และมีเพื่อนชื่อ เต๋า (ไม่ทราบชื่อนามสกุลจริง) ช่วยพูดคุยหลอกลวงด้วย ได้ประมาณ 101 ล้านบาท

นายชลวิชา รับสารภาพอีกว่า แก็งคอลเซ็นเตอร์แก็งนี้มีพนักงานเป็นคนไทยประมาณ 50-60 คน ในส่วนของเงินเดือนที่ได้การทำงานตั้งแต่เริ่มงาน ช่วง 1-3 เดือนแรก จะได้เงินเดือนประมาณ 20,000 บาท แต่ภายหลังเป็นพนักงานเก่า จึงได้ปรับเงินเดือนเพิ่มเป็น 30,000 บาท และได้ค่าคอมมิชชั่นจากการหลอกลวง 3% และคอมมิชชั่นล่าสุดที่สามารถหลอกลวงได้ 101 ล้าน ได้เงินสดมากว่า 2.5 ล้านบาท และเคสเก่าที่เคยหลอกลวงได้ 40 ล้านบาท ตนได้เงินประมาณ 1,400,000-1,500,000 บาท และเคสเก่าที่เคยหลอกลวงได้ 10 ล้านบาท ได้เงินสด 300,000 บาท โดยรวมทั้งหมดที่ทำงานมาได้เงินมาทั้งหมดประมาณ 4,000,000 บาท โดยตอนหลบหนีกลับมาที่ประเทศไทย ได้พกเงินสดติดตัวไว้ 600,000 บาท เมื่อกลับมาถึงประเทศไทย ตนได้นำเงินมาใช้สร้างบ้านรวมประมาณ 1 ล้านบาท แบ่งให้ญาติใช้จ่าย รวม 1 ล้านบาท นำไปซื้อทองรูปพรรณมาเก็บไว้ประมาณ 5 แสนบาท ที่เหลือได้นำมาใช้จ่ายส่วนตัวและส่วนหนึ่งได้นำไปใช้เล่นพนันออนไลน์ เพื่อความสุขส่วนตน ฝากเตือนประชาชน หากมีสายแปลกก็ควรจะตรวจสอบเบอร์โทรศัพท์จากอินเทอร์เน็ตก่อน หรือตัดสายทิ้งและบล็อกเบอร์โทรศัพท์ไปเลย ส่วนคนที่อยากจะมาทำงานแบบนี้ ถึงแม้ได้เงินเยอะแต่ไม่ได้ใช้ และถูกจับกุมด้วย

หลังจากการจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ PCT 5 ได้นำตัวผู้ต้องหารายนี้มาขยายผล ตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่ออายัดเงินที่ผู้ต้องหาได้จากการหลอกลวงมาทั้งหมด และได้มีการติดตามให้ผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงเงินจำนวน 41 ล้านบาท และผู้เสียหาย (แพทย์) ที่ถูกหลอกลวงกว่า 100 ล้านบาท มาเข้ายืนยันเสียง ซึ่งทั้งสองได้ยืนยันว่า เสียงของนายชลวิชา เป็นเสียงที่ทั้งสองถูกหลอกลวงจริงๆ ใช่เสียงเดียวกันกับที่อ้างเป็นผู้กำกับ ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีบริษัทขนส่งได้โทรฯ ติดต่ออ้างว่า ตนได้ส่งสินค้าไปไต้หวันแล้วถูกอายัดให้ไปแสดงตัว แต่ตนอยู่กรุงเทพฯ จึงโอนสายไปให้พูดคุยกับ ผกก.ที่อ้างตัว บอกให้ไปรายงานตัว เนื่องจากส่งกัญชาซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเนื่องจากจับกุมผู้ต้องหาได้แล้ว พร้อมอ้างว่าต้องไปแสดงตัวและแสดงบัญชีทั้งหมดเพื่อตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยส่งลูกน้องให้โทรฯ ติดต่อทุก 3 ชั่วโมง ทุกวันเป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นให้โอนเงินไปยังบัญชีต่างๆ รวมกว่า 10 บัญชี โดยโอนเงินไปรวม 45 ล้านบาท ทั้งนี้ต้องขอบคุณตำรวจที่สืบหาอย่างขมักเขม้น ทั้งนี้คิดว่าจะไม่เจอตัวแล้ว เพราะทราบว่าอยู่กัมพูชา

พล.ต.ต.ธีรเดช กล่าวว่า เงินที่ไปต่างประเทศอาจติดตามยาก แต่เคสนี้ทราบว่าได้เงินเปอร์เซ็นต์จากการหลอกลวงร่วม 4 ล้านบาท และเงินรางวัลที่ได้จากการหลอกคนไทยเขาจะไม่ได้ใช้เลย จะติดตามคืนผู้เสียหายต่อไป ส่วนญาติ ตำรวจอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเข้าข่ายความผิดร่วมกันฟอกเงินหรือไม่ และข้อหาอื่นๆ ที่เข้าข่ายความผิดด้วย ทั้งยังมีผู้ร่วมกระทำผิดที่ทำหน้าที่ในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ร่วมกันหลอกลวงอีก 57 คน จะขยายผลจับกุมมาดำเนินคดีต่อไป