เมื่อวันที่ 15 ต.ค. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก สำนักงานอัยการสูงสุดให้ความเห็น กรณีที่ นายกัน จอมพลัง ให้ความช่วยเหลือเด็กอายุ 14 ปี ถูกพ่อซึ่งเป็นนักการเมืองท้องถิ่นทำร้ายร่างกาย เพราะจับได้ว่าแต่งหญิง โดยเด็กหนีออกจากบ้านมา 2 วันแล้ว ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเพชรบุรี ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นั้นว่า

ตามที่ปรากฎเป็นข่าวนั้น จะมีพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งมีเจ้าหน้าที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจดำเนินการกระบวนการเเละจะมีสหวิชาชีพ โดยมีนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กหรือเยาวชนร้องขอ และอัยการ เข้าร่วมในการสอบปากคำด้วย จะต้องไปสอบให้ได้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เเละนำมาพิจารณาว่า การกระทำ เป็นความผิดฐานใด กระบวนการจะต้องไปสอบสวนให้ได้ความจริงมีสหวิชาชีพ เข้าไปดำเนินการสอบสำหรับเด็กโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นวิธีการสำหรับเด็กในกรณีที่เด็กเป็นผู้เสียหาย เพื่อให้ความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น

จากนั้นจะนำมาพิจารณาว่าจะเป็นความผิดฐานใด ก่อนที่จะยื่นต่อศาลเยาวชนและครอบครัวฯ ซึ่งมี พม. เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ หรืออาจจะมีการยื่นขอให้ร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว อัยการจะช่วยยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนฯ ศาลก็อาจจะออกมาตรการข้อกำหนด ซึ่งมีหลายมาตรการ เเล้วเเต่ศาลจะเห็นควร เช่นเเยกพื้นที่กันอยู่ ให้เด็กไปอยู่ในความดูเเลของมารดา หรือมีการห้ามเข้าใกล้

ที่ผ่านมาอัยการเคยยื่นกรณีเป็นคดีความรุนเเรงในครอบครัวมาเเล้ว เรื่องนี้สามารถร้องมาที่อัยการ สคช. ยื่นต่อศาลขอให้คุ้มครองเด็กหรือยื่นผ่านพนักงานอัยการก็ได้ ส่วนข้อหาผู้กระทำก็จะต้องรอข้อเท็จจริงจากการสอบสวนจากสหวิชาชีพก่อน ซึ่งอาจจะเป็นข้อหาทำร้ายร่างกาย หรือข้อหาใดเพิ่มเติม พนักงานสอบสวนจะดูจากหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับ มาตรา 172 ของพรบ.บัญญัติไว้ว่า ผู้ที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวมีสิทธิร้องขอให้ศาลเยาวชนและครอบครัวที่ตนมีถิ่นที่อยู่หรือมีภูมิลำเนาหรือศาลที่มูลเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นออกคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการเพื่อบรรเทาทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวได้ ในกรณีที่ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวไม่อยู่ในสภาพหรือวิสัยที่จะร้องขอตามวรรคหนึ่งได้ ญาติ พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ พนักงานเจ้าหน้าที่ องค์การซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หรือองค์การซึ่งมีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ ครอบครัว หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายจะกระทำการแทนก็ได้