เมื่อวันที่ 14 ต.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีการย้ายสังกัดพรรคการเมืองเพื่อให้มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในพรรคการเมืองใหม่ สรุปใจความสำคัญคือ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 97 (3) บัญญัติ ผู้มีสิทธิ สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องต้องสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่กรณียุบสภา ให้ลดระยะเวลาดังกล่าวเหลือ 30 วัน

ดังนั้นกรณีสภาครบวาระ วันที่ 24 มี.ค.66 กกต.คาดการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นวันที่ 7 พ.ค.66 เท่ากับการสังกัดพรรคต้องนับย้อน 90 วัน จะอยู่ที่วันที่ 7 ก.พ. 66 ไม่ใช่ตามที่นักการเมืองเข้าใจว่า เป็นวันที่ 24 ธ.ค. 65

ส่วนกรณีมีการยุบสภา ต้องเลือกตั้งใหม่ ในห้วงเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ดังนั้นการจะมีคุณสมบัติเป็นผู้สมัคร ส.ส. ต้องเป็นสมาชิกพรรค 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ดังนั้นหากมีการยุบสภาแล้ว ส.ส. ที่จะย้ายพรรคเพื่อไปลงสมัคร สามารถย้ายได้แม้ยุบสภาผ่านไปแล้ว 10 วัน เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นช่วงใกล้วันครบ 60 วัน

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า กรณีที่มีการย้ายสังกัดช่วงวาระของสภา เท่ากับต้องลาออกจาก ส.ส. ดังนั้นเสียงในสภาจะเปลี่ยนดุล ซึ่งเชื่อว่าหากมีวาระที่ต้องใช้เสียงโหวตในสภา อาจมีประเด็นการแพ้โหวตได้มากขึ้นเมื่อถึงปลายเดือน ม.ค.66 หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ไม่ยุบสภา เชื่อว่าจะมี ส.ส. ลาออก 40-50 คน เพื่อเปลี่ยนพรรคเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง หากเลยวันที่ 7 ก.พ. 66 ไม่ลาออกและไม่ยุบสภา ส.ส. ที่ยังอยู่กับพรรคการเมืองเดิม แต่พรรคไม่ส่งจะหมดสิทธิลงสมัคร ส.ส.

“เหตุการณ์ในสภาหลังจากที่ ส.ส. ลาออก จะล่มแล้วล่มอีก แต่สภาล่มนั้นไม่เป็นไร แต่หากรัฐบาลเกิดแพ้มติสำคัญ ถือเป็นความเสียหาย และอาจเป็นมูลเหตุให้ยุบสภาเกิดขึ้นได้ แต่การใช้เทคนิคยุบสภานั้น ต้องพิจารณาใช้ในจังหวะที่ได้เปรียบ เสียเปรียบทางการเมือง หรือยุบโดยหลักการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดทางกฎหมายเรื่องการสังกัดพรรคการเมือง เพื่อเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะหากยุบสภา พ้นไปแล้ว 10 วัน ย้ายพรรคก็ยังลงสมัคร ส.ส. ได้” นายสมชัย กล่าว.