เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายเอกชัย แสนดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว พบว่า เมื่อเวลา 04.30 น. วานนี้ (9 ต.ค.) เจ้าหน้าที่พบมีลูกช้างป่าอายุประมาณ 1-2 เดือน พลัดหลงเข้ามาในฐานทหารพราน ฐานฯ ทุ่งกร่างในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี

เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่ได้ทำคอกเพื่อรอฝูงมารับ เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงเวลาประมาณ 06.30 น. ไม่พบโขลงมารับแต่อย่างใด จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่เบื้องต้นพบ เท้าหน้าด้านซ้ายเล็บที่ 2 เป็นแผล แต่เล็บยังไม่หลุดจากเท้าและจากการตรวจสอบบริเวณใกล้เคียงไม่ได้ยินเสียงช้างป่าร้อง จึงได้มอบหมายสัตวแพทย์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 มาประเมินอาการเพื่อทำการรักษาตามขั้นตอนต่อไป

ล่าสุดการดูแลลูกช้างป่าพลัดหลงที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวในวันนี้ ทางด้าน สัตวแพทย์ไพโรจน์ พรมวัฒ ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่าสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 ศรีราชา เปิดเผยว่า อาการของลูกช้างในตอนนี้ อยู่ในภาวะอ่อนแรง เนื่องจากร่างกายยังไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ จากการเปลี่ยนนมแม่ มาเป็นอาหารทดแทน ซึ่งตอนนี้ได้ให้นมสำหรับทารก น้องจึงยังไม่สามารถใช้สารอาหารจากนมตรงนี้ไปใช้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ โดยมีการขับถ่ายอาหารที่ให้ไป ออกมาให้เห็น เนื่องจากดูดซึมไม่หมด

ส่วนตามร่างกายของลูกช้าง ตอนนี้พบมีบาดแผล ที่เกิดจากรอยขีดข่วนรอบตัวตามผิวหนัง ทำให้น้องที่อยู่ในอาการป่วยอาจทำให้ติดเชื้อได้ง่าย ส่วนในตอนนี้ ทีมอยู่ในระหว่างหาสาเหตุอาการบาดเจ็บที่ทำให้ฝูงคัดปล่อยทิ้งลูกช้าง จนพลัดหลงกับแม่ให้เจอ เพื่อที่จะได้หาแนวทางรักษาแก้ไขต่อไป

ส่วนสาเหตุที่ทำให้ลูกช้างพลัดหลงยังไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากเป็นไปได้หลายปัจจัย ทั้งสัตว์นักล่าหรือโรคในพื้นที่ หรืออาจเกิดจากตัวลูกช้างเองที่อ่อนแอเกินไป ส่วนเรื่องแนวทางการผลักดันน้องกลับคืนฝูงและแม่ช้าง ยังต้องรอดูอาการตามหน้างานก่อน โดยขณะนี้อยู่ในช่วงระหว่างประคับประคอง ให้ลูกช้างสามารถดูดซึมสารอาหารจากนมทดแทน ไปปรับใช้สร้างภูมิคุ้มกันร่างกายให้แข็งแรงได้ก่อน

ขณะที่ นายเอกชัย แสนดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เปิดเผยว่า ลูกช้างป่าพลัดหลง จากการตรวจสอบพบเป็นลูกช้างป่า เพศผู้ อายุประมาณ 1 สัปดาห์ ส่วนการดูแลเบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ป้อนนมแพะสเตอริไลส์ เป็นจำนวน 600 มิลลิลิตร โดยได้รับความอนุเคราะห์จาก สำนักงานปศุสัตว์ อำเภอโป่งน้ำร้อน ปรากฏว่า ลูกช้างกินนมไปประมาณ 4 ลิตร

โดยความคืบหน้าการดูแลอนุบาลลูกช้างขณะนี้ ได้มีการนำตัวอย่างเลือดลูกช้างส่งไปให้ทางสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ซึ่งมีอุปกรณ์เครื่องมือที่ครบ ทำการตรวจสอบหาสาเหตุที่ลูกช้างถูกฝูงคัดทิ้ง ว่าเกิดจากโรคในตัวช้างหรือไม่นอกจากนี้ยังจะสามารถนำมาประเมิน ปรับใช้การรักษาลูกช้างได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้หากลูกช้างมีการปรับสภาพฟื้นฟูร่างกายแข็งแรง สามารถดูดซึมอาหารทดแทนสร้างภูมิคุ้มกันได้ ก็จะหาแนวทางผลักดันลูกช้างกลับคืนฝูงต่อไป