วิกฤติโควิด-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านการดำเนินธุรกิจ ผู้นำในยุค “นิวนอร์มอล” จึงต้องมีทักษะที่หลากหลาย และก้าวทันความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำพาองค์กรฝ่าวิกฤติและสร้างการเติบโตได้ในยุคที่ธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล
สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัว ทั้งในแง่ของหลักสูตรที่เน้นเสริมศักยภาพให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับบัณฑิตใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจ (AACSB) จึงต้องทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาและองค์กรธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลกอย่างใกล้ชิด เพื่อตามการเปลี่ยนแปลงให้ทัน
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดการปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลขนานใหญ่ ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจในอนาคตจึงต้องมีทักษะที่สำคัญ ได้แก่ ความคล่องตัว ความสามารถในการปรับตัว และศักยภาพในการหลอมรวมความแตกต่างระหว่างองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่มีความหลากหลาย และพร้อมทั้งมีความยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อนำพาทีมสู่ความสำเร็จและก้าวฝ่าวิกฤติในยุคของความไม่แน่นอน” นายเจฟฟ์ แพร์รี่ รองประธานบริหาร และประธานคณะเจ้าหน้าที่ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก AACSB กล่าว
รายงาน Comparing Lenses: Business Schools and Employers on Leadership Development ที่จัดทำโดย AACSB ระบุว่า ภาคธุรกิจยังคงมองว่าสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจเป็นเป็นตัวเลือกที่สำคัญของภาคธุรกิจในการพัฒนาบุคคลากร โดยกว่า 58% เลือกที่จะเสนอทุนการศึกษาให้กับบุคคลากรเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาด้านธุรกิจในระดับปริญญา เนื่องจากสถาบันเหล่านี้มีวิธีการสอนแบบองค์รวม และยังเป็นพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายของผู้นำ ให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้มุมมองและประสบการณ์ที่หลากหลายจากผู้นำคนอื่นๆ ซึ่งเป็นแง่มุมที่น่าสนใจ โดยเฉพาะสำหรับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่ไม่มีทรัพยากรจำนวนมากมาลงทุนในการพัฒนาผู้นำเป็นการภายในองค์กร
อย่างไรก็ตาม ผู้นำในอุตสาหกรรมหลายคนมองว่า แม้ว่าสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจจะสามารถสอนทักษะที่หลากหลาย แต่อาจจะไม่ใช่ทักษะที่เป็นที่ต้องการสำหรับองค์กรที่มีความต้องการเฉพาะตัว และอาจจะปรับใช้ไม่ได้กับทุกอุตสาหกรรม หรือตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ ปรับหลักสูตรให้หลากหลาย ทั้งในแง่เนื้อหาและวิธีการเรียนการสอน ไม่ใช่แค่ภาคธุรกิจเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่สถาบันการศึกษาเองก็ได้รับผลกระทบจากการจัดการเรียนการสอน และต้องปรับตัวอ้าแขนรับเทคโนโลยีเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงที่กระทันหันจากห้องเรียนจริงสู่ห้องเรียนออนไลน์ กระทบกับหลักสูตรและบทบาทของคณะผู้จัดการเรียนการสอน และเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ AACSB ต้องปรับแนวทางการประเมินหลักสูตร โดยเล็งเห็นว่า การเรียนการสอนแบบผสมผสาน ก็เป็นอีกช่องทางที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ด้วยการเรียนการสอนแบบบรรยายบนช่องทางออนไลน์ และการทำกิจกรรมที่เน้นประสบการณ์และการมีส่วนร่วมของผู้เรียนแบบออฟไลน์
“สถานการณ์ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สถาบันการศึกษาเองก็ต้องปรับตัว และเปลี่ยนแปลงหลักสูตรการเรียนการสอน เนื้อหาของแต่ละรายวิชา เพื่อเตรียมพร้อมให้นักศึกษาก้าวสู่การเป็นผู้นำในอนาคต ซึ่ง AACSB ก็เห็นความสำคัญและสนับสนุนให้สถาบันการศึกษามีอิสระในการนำเสนอองค์ความรู้ และหลักสูตรที่มีความหลากหลายมากขึ้น แม้การกลับมาศึกษาต่อในระหว่างการทำงานจะเป็นทางเลือกที่ช่วยเพิ่มพูนความรู้ และโอกาสในการก้าวหน้าทางอาชีพ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว คือทักษะในการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-Long Learning) ซึ่งครอบคลุมถึงทักษะในการประเมินจุดแข็งของตนเอง รวมถึงการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
นายเจฟฟ์ แพร์รี่ กล่าวเสริมว่า “เราเชื่อว่า ผู้ที่แสวงหาความรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งต้องการพัฒนาทักษะในหลาย ๆ ด้าน ในหลายช่วงอายุ จะเข้าเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจมากขึ้น ซึ่งรูปแบบการเรียนที่ผสมผสานจะมีประโยชน์กับผู้เรียนที่มีความหลากหลายนี้ AACSB จึงสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาฯ ส่งเสริมความใฝ่รู้สงสัยให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน ไปจนถึงคณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ของสถานศึกษาทุกคน เพื่อให้สถานศึกษาเป็นโรงบ่มเพาะผู้ที่มีความสามารถเฉพาะตัวที่หลากหลายให้กลายเป็นคนที่เรียนรู้ไม่รู้จบอย่างแท้จริง”
หลักสูตรการบริหารธุรกิจควรส่งเสริมให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้จากกันและกัน และเป็นการศึกษาแนวราบ คือ ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสายงานอื่น และแลกเปลี่ยนความรู้สิ่งที่ตัวเองรู้กับเพื่อน ๆ ส่งเสริมการตั้งคำถามของผู้เรียนให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งในมุมส่วนตัวและในด้านหน้าที่การงาน นอกจากนี้ยังต้องเปลี่ยนวิธีการสอนว่าผู้เรียนควรคิด “อะไร” มาเป็น คิด “อย่างไร” และจะตั้งคำถามที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาอย่างไร
สถาบันการศึกษา ต้องปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้เรียน คือ คิดนอกกรอบ ปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต วางแผน นำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ปรับตัวสู่โลกดิจิทัล และพร้อมจะลองผิดลองถูกไปพร้อมกับผู้เรียนหลักสูตรการบริหารธุรกิจกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หนึ่งในวิสัยทัศน์ของ AACSB คือ สร้างระบบการศึกษาบริหารธุรกิจทั่วโลกที่สร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มาตรฐานการประเมินล่าสุดจึงได้ระบุเกณฑ์วัดผลในด้านการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกของสังคมลงไปด้วย โดยคาดหวังว่า สถาบันการศึกษาจะสามารถระบุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มเป้าหมายดังกล่าวลงในการจัดการเรียนการสอน มาตรฐานนี้ไม่มีเงื่อนไขที่ชัดเจน ซึ่งเป็นความตั้งใจของ AACSB ที่อยากให้สถานศึกษาแต่ละแห่งได้มีโอกาสสร้างมาตรวัดความสำเร็จของตัวเองตามวิสัยทัศน์และพันธกิจที่มี และกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และทั่วโลก โดยมุ่งเน้นความร่วมมือกับหน่วยงานนอกภาควิชาการ และใช้การศึกษาบริหารธุรกิจมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง และใช้ทักษะในการแก้ปัญหาตามแนวทางธุรกิจแก้ปัญหาในชุมชน
จุดแข็งและความท้าทายของระบบการศึกษาบริหารธุรกิจในประเทศไทย โลกยุคนิวนอร์มอลได้สร้างการเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกไม่เว้นในประเทศไทย สถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรการบริหารธุรกิจในประเทศเองก็เจอปัญหาเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องวิธีการเรียนของผู้เรียนที่เปลี่ยนแปลงไป ความคาดหวังของภาคธุรกิจที่มีความหลากหลาย ตลอดจนเป้าหมายในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม เมื่อผู้เรียนหลายคนพบว่า พวกเขาทำงานได้ดีในโลกออนไลน์ หรือในโลกการเรียนแบบไฮบริด สถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจจะต้องเสนอทางเลือกที่ตรงตามความต้องการของผู้เรียน ขณะเดียวกัน ก็ไม่ทิ้งภารกิจในการสร้างผู้นำทางธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนต้องทำร่วมกัน
“สถาบันการศึกษาในไทยปรับตัวได้ดี และยังมีความสัมพันธ์กับภาคธุรกิจรอบตัวอย่างกว้างขวาง ทั้งยังทำงานเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนรอบด้านที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที”
ปัจจุบัน สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทย 7 แห่ง ได้รับการรับรองหลักสูตรจาก AACSB และมีอีก 17 สถานศึกษาที่เป็นสมาชิกพันธมิตรการศึกษาบริหารธุรกิจ (Business Education Alliance) โดยในฐานะหน่วยงานระดับนานาชาติ AACSB ยึดมั่นในพันธกิจในการสร้างเครือข่ายระหว่างบุคลากรทางการศึกษา นักศึกษา และภาคธุรกิจ เพื่อยกระดับการศึกษาด้านบริหารธุรกิจของสถาบันการศึกษาทั่วโลกกว่า 1,600 แห่ง เพื่อช่วยให้ทุกฝ่ายก้าวข้ามปัญหา และหาทางออกต่อความท้าทายและโอกาสที่มีร่วมกัน
AACSB ได้ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาหลักสูตรและสร้างสรรค์โครงการในหลากหลายด้าน เช่น ร่วมมือกับวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ในการพัฒนาระบบปริญญาควบ ระบบการเรียนการสอนออนไลน์เพื่อรองรับนักศึกษาจากนานาชาติ โปรแกรมการศึกษาร่วมเพื่อส่งนักศึกษาไปเรียนกับมหาวิทยาลัยพันธมิตรในต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายกับสถาบันการศึกษาในระดับนานาชาติ
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในมีการส่งนักศึกษาในหลักสูตร MBA ให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ พัฒนาระบบปริญญาควบร่วมกับสถาบันต่างประเทศ และความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาบริหารธุรกิจในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ซึ่งรวมทั้งคอร์สระยะสั้น การแลกเปลี่ยนคณะทำงานและคณาจารย์ การฝึกงานในต่างประเทศ และร่วมเป็นพันธมิตรด้านการวิจัย เป็นต้น
“การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ AASCB ทำให้สถาบันการศึกษาบริการธุรกิจสามารถเข้าถึงโอกาส และสร้างเครื่อข่ายกับสถานศึกษาด้านบริหารธุรกิจที่มีคุณภาพทั่วโลก ซึ่งสถาบันการศึกษาในไทยทุกแห่งที่เข้าร่วมการประเมินและเป็นสมาชิกเครือข่ายสามารถเข้าร่วมได้ ตามที่เห็นได้จากความสำเร็จของทั้ง 2 สถาบันที่กล่าวมา” นายเจฟฟ์ แพร์รี่ กล่าวสรุป