เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่บริเวณสี่แยกมิยาซาว่า อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ถนนทางหลวงชนบทหมายเลข อย.4031 บางบาล-ผักไห่ อ.บางบาล กลุ่มชาวบ้านใน ต.บางหัก ต.บางหลวง ต.วัดตะกู กว่า 200 คน นัดรวมตัวกัน เพื่อเรียกร้องให้กรมชลประทานระบายน้ำเข้าทุ่งใน อ.ผักไห่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนบ้านเรือนชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมกว่า 2 เมตร เป็นเวลากว่า 2 เดือน
โดยกลุ่มชาวชาวบ้าน ระบุว่า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมตั้งแต่เดือน ส.ค. จนเข้าสู่เดือน ต.ค. เป็นเวลากว่า 2 เดือน ระดับน้ำท่วมสูง การสัญจรไปมาลำบากต้องใช้เรือบ้านวัง หลังระดับน้ำท่วมสูงบ้านอยู่ มีเด็กเล็กมีผู้ป่วยติดเตียง พืชผลทางการเกษตร ทรัพย์สินตัวบ้านเรือนได้รับความเสียหาย แต่ทางกรมชลประทานได้รับปากว่าจะระบายน้ำเข้าทุ่งตั้งแต่กลางเดือน ก.ย. ผลัดเลื่อนมาเป็นปลายเดือน ก.ย. การระบายน้ำเข้าทุ่งยังมีปริมาณที่น้อยเกินไป ชาวบ้านยังคงต้องได้รับผลกระทบจากน้ำที่ท่วมสูงขึ้นทุกวัน จึงอยากให้กรมชลประทานช่วยระบายน้ำเข้าทุ่งให้มากกว่านี้ ให้ชาวชาวบ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวัน ชาวบ้านเข้าใจว่าเป็นบ้านที่อยู่อาศัยริมน้ำถูกน้ำท่วมมาทุกปี แต่ที่ผ่านๆ มา น้ำจะท่วมเพียงแค่ใต้ถุนบ้าน ยังจะอาศัยอยู่ในบ้านกันได้ แต่จากการบริหารจัดการน้ำของ กรมชลประทานแบบนี้ ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่จะอยู่
นายภาณุพงษ์ บุญกฤษณ์ หนึ่งในชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ได้นำเช็คจ่ายเงินเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนบ้านถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเมื่อปี 2544 เป็นจำนวนเงิน 120 บาท ที่ยังเก็บเอาไว้ ไม่ได้เอาไปขึ้นเงิน เพราะจำนวนเงินน้อยมากกับความเสียหายและความลำบากของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเมื่อปีที่แล้ว ทนไม่ไหวต้องออกมาเรียกร้อง
ต่อมากลุ่มชาวบ้านได้รวมตัวกันนำรถยนต์ไปปิดขวางถนนทันที เมื่อเห็นรถบรรทุกของกรมชลประทานจะวิ่งผ่าน และมีการให้คนขับลงจอดรถจนเกือบมีการปะทะกันขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาเจรจา โดยกลุ่มชาวบ้านเรียกร้องให้ทางกรมชลประทานออกมาชี้แจง ทำความเข้าใจกับชาวบ้านและให้เร่งระบายน้ำเข้าทุ่ง นายนิวัฒน์ เพียรนุลา หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ สำนักงานระบายน้ำโครงการชลประทานผักไห่ ได้เดินทางมาพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึงการระบายน้ำเข้าทุ่ง กับชาวบ้านสาเหตุที่ระบายน้ำเข้าทุ่งช้า เนื่องจากมีชุมชนและชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ของทุ่งผักไห่อยู่บางส่วน และต้องควบคุมน้ำไม่ให้ท่วมถนนสายบางบาล-ผักไห่ เนื่องจากเป็นถนนสายหลักจะสัญจรไปมาไม่ได้ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้าน เพราะชาวบ้านเห็นว่าตนเองก็เดือดร้อนมานานแล้ว ต่างส่งเสียงโห่ร้อง
ระหว่างนั้น มีกลุ่มชาวบ้านที่อยู่ในทุ่งผักไห่ ที่มีการระบายน้ำเข้าทุ่งไปแล้วบางส่วน ได้รับความเดือดร้อนเหมือนกัน น้ำท่วมถนนทางเข้าหมู่บ้าน ท่วมบ้าน ก่อนจะเกิดการโต้เถียงกัน จนจะเกิดการปะทะกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้ามาแยกย้าย
ต่อมาได้มีการเรียกตัวแทนชาวบ้านทั้งสองฝั่ง ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ชลประทาน เข้ามาทำการพูดคุยตกลงกัน ใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยข้อสรุป ทางชลประทานผักไห่จะเปิดประตูระบายน้ำ ทั้ง 3 ประตู เพิ่มขึ้น คือ ประตูระบายน้ำคลองตานึ่ง ประตูระบายน้ำใบบัว ประตูระบายน้ำกุฎี ซึ่งในทุ่งนี้จะรับน้ำได้ประมาณ 1 เมตร 60 ซม. ปัจจุบันอยู่ที่ 60 ซม. การระบายน้ำเข้าทุ่งจะให้ระดับน้ำไม่ท่วม ถนนสาย-บางบาลผักไห่ เพื่อให้ประชาชนได้สามารถใช้สัญจรไปมาได้ เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลัก จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้แยกย้ายกันกลับ โดยจะยังมีการเฝ้าติดตามดูการเปิดประตูระบายน้ำของชลประทานอย่างใกล้ชิด.