นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรม ได้หารือกับภาครัฐและเอกชน เช่น องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กรมยุโรป สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อรับมือกรณีสหภาพยุโรป (อียู) ได้เผยแพร่ร่างกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน เพื่อกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่วมกันแก้ปัญหาโลกร้อน โดยหากอียูเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับในต้นปี 66

สำหรับเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าของอียูจะต้องซื้อใบรับรองด้านคาร์บอน ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้น ซึ่งผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าไทยไปอียูจะต้องเตรียมปรับตัว และปรับกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า มาตรการของอียู จะกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยไปอียู โดยเฉพาะเหล็ก เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม ซึ่งในปี 63 ไทยส่งออกไปอียู 145 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น ภาครัฐและเอกชน จะต้องร่วมกันศึกษารายละเอียดของมาตรการ และกฎหมายต่างๆ รวมถึงหารือกับอียูเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

“อียูจะเริ่มบังคับใช้ในสินค้า 5 ประเภทก่อน ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม โดยอาจขยายมาตรการให้ครอบคลุมสินค้าประเภทอื่นด้วยในอนาคต แต่กำหนดระยะเวลาให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกปรับตัวในช่วง 3 ปีแรก หรือปี 66–68 ผู้นำเข้าเพียงแค่รายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้น และตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.69 เป็นต้นไป จะเริ่มบังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องซื้อ และส่งมอบใบรับรองในการนำเข้าสินค้าด้วย”

นางอรมน กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการต่างชาติ สามารถยื่นขอขึ้นทะเบียนกับคณะกรรมาธิการยุโรป เพื่อรับรองปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับโรงงานของสินค้าที่ตนผลิต โดยข้อมูลการปล่อยก๊าซ จะต้องได้รับการรับรองโดยผู้รับรอง ที่แต่งตั้งโดยประเทศสมาชิกอียู เป็นต้น

“มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่อียูใช้นโยบายโลกสีเขียวไร้มลพิษ ที่ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างน้อย 55% ภายใน 10 ปี หรือในปี 73 และทำให้มีการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ ภายใน 30 ปี หรือปี 93 ส่งผลให้อียูจำเป็นต้องออกมาตรการดังกล่าว เพื่อช่วยผู้ประกอบการอียูไม่ให้มีค่าใช้จ่ายในการปรับระบบการผลิตสินค้า เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกเพียงฝ่ายเดียว แต่ผู้ส่งสินค้าเข้าไปจำหน่ายในอียู ต้องมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย”