เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัยเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอฝ่ายค้านขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ เนื่องจากฝ่ายค้านมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ สมัยแรก วันที่ 24 ส.ค. 2557

โดยศาลรัฐธรรมนูญ แถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ ลงมติและอ่านคำวินิจฉัย สรุปว่า การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ และให้เริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 ซึ่งเป็นวันโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี วันที่ 5 เม.ย. 2568 ผลการลงมติ 6 ต่อ 3 สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมจะรายงานให้ทราบต่อไป

ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานรายละเอียดฉบับเต็มว่า ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า บทบัญญัติกฎหมายของรัฐธรรมนูญปี 2560 แตกต่างจากรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 คือการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามมาตรา 159 และมาตรา 172 โดยมีหลักการสำคัญคือ การพิจารณาบุคคลเพื่อให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ต้องดำเนินการตามบัญชีรายชื่อที่เสนอแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยต้องมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นหลักสำคัญประการหนึ่งในการได้มาซึ่งนายกฯ

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอโดย สนช. มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถวายคำแนะนำ เห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่นายกฯ ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งต้องมีที่มาจากมาตรา 158 วรรคสอง ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

ส่วน ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ บริหารราชการแผ่นดินในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนายกฯ ตาม ครม. ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยหรือไม่นั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ความมุ่งหมายตามรัฐธรรมนูญปี 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 เป็นไปตามหลักทั่วไปใช้บังคับกฎหมาย กฎหมายย่อมมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันประกาศใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลใช้บังคับเมื่อ 6 เม.ย. 2560 ย่อมมีความหมายว่า ทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ย่อมมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะกาล จะมีการบัญญัติให้เรื่องใด ยังไม่มีผลการใช้บังคับ ไม่ว่ากรณีใดตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างต้องเริ่มนับทันที กรณีเป็นไปตามมาตรา 158 วรรคสี่ เรื่องระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับทันที นับแต่รัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ ทั้งนี้จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น วินิจฉัยได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญนี้ด้วย

ส่วนข้อความที่อ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2550 และคำวินิจฉัยที่ 4/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลัง เพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค และสมาชิกภาพ ส.ส. มิใช่โทษทางอาญา กระทำได้เช่นเดียวกับคำร้องของคดีนี้นั้น เห็นว่า คำวินิจฉัยดังกล่าว เป็นคนละกรณีข้อเท็จจริงกรณีนี้ มีหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต่างกัน ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

ส่วนข้ออ้างที่ว่า บันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 ที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ รองประธาน กรธ. คนที่ 1 ให้ความเห็นการนับระยะเวลาการนับดำรงตำแหน่งนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ สามารถนับรวมการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้นั้น ศาลเห็นว่า การประชุมดังกล่าว เป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของ กรธ. ในการจัดทำรัฐธรรมนูญมาตราต่าง ๆ ว่า มีความมุ่งหมายอย่างไร ประกอบความเห็นประธาน กรธ. และรองประธาน กรธ. คนที่ 1 มิได้นำไประบุไว้ในความมุ่งหมาย และคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158

นอกจากนี้ตามบันทึกการประชุม กรธ. ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ปรากฏประเด็นการพิจารณา หรืออภิปรายการนับระยะเวลาดำรงตำแหน่งว่า สามารถนับรวมการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับด้วย การกำหนดเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามมาตรา 158 วรรคสี่ มีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เม.ย. 2560 และ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในวันก่อนประกาศใช้ตามรัฐธรรมนูญ ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 2564 การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ดังกล่าว จึงเป็นการดำรงตำแหน่งภายในรัฐธรรมนูญ 2560 นี้ ต้องอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 158 วรรคสี่

ส่วนคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็น ครม. ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ต้องถือว่าวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ เป็นวันเริ่มต้นรับตำแหน่ง เมื่อผู้ถูกร้อง (พล.อ.ประยุทธ์) ดำรงตำแหน่งนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 นับตั้งแต่ 6 เม.ย. 2560 ถึงวันที่ 24 ส.ค. 2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายก ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ทั้งนี้อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

อย่างไรก็ตามมีรายงานข่าวแจ้งว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมาก 6 ราย ที่ชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งไม่ครบ 8 ปี ได้แก่ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายวิรุฬห์ แสงเทียน ส่วนเสียงข้างน้อย 3 ราย ที่เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และนายนภดล เทพพิทักษ์.