เมื่อวันที่ 21 ก.ย. นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า วันที่ 23 ก.ย.65 เป็นวัน “ศารทวิษุวัต” (Autumnal Equinox) เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน คำว่า “Equinox” มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้น Equinox หมายถึงวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งตรงกับคำว่า “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” วันดังกล่าว ดวงอาทิตย์ขึ้นเวลาประมาณ 06.07 น. และจะตกลับขอบฟ้า เวลาประมาณ 18.13 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร)

เนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง สำหรับปรากฏการณ์ต่อไปที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ คือ “วันเหมายัน” (Winter Solstice) ซึ่งจะตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม 2565 เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุด และกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้จะมีช่วงกลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน

ภาพจากประชาสัมพันธ์ สดร.