จากกรณีมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอทหารเรือช่วยกันนำกระสอบทรายที่อุดอยู่ภายในท่อระบายน้ำบริเวณซอยหลวงแพ่ง 6 ออกจากพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำ โดยมีการตั้งข้อสงสัยจากประชาชนว่ากระสอบทรายดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลาดกระบัง หรือเป็นการวางยาผู้ว่าฯ กทม. หรือไม่ ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าวันที่ 15 ก.ย. นายธนะสิทธิ์ เมธพันธ์เมือง ผอ.เขตลาดกระบัง เปิดเผยว่า กทม. บูรณาการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานในการเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ รวมถึงการระบายน้ำออกจากถนนเพื่อเปิดเส้นทางสัญจร ซึ่งต้องสูบน้ำออกจากถนนก่อนเมื่อน้ำลดลงเห็นรอยรั่วต้องเอากระสอบทรายไปปิดไว้ เพื่อกั้นไม่ให้น้ำไหลย้อนกลับเข้ามาเติม และเมื่อน้ำแห้งแล้วจึงนำกระสอบทรายออก และถอยร่นไปอุดรอยรั่วในจุดถัดไป ซึ่งเป็นเทคนิคในการระบายน้ำที่ท่วมขังออกจากพื้นที่ ขอให้ชาวบ้านเชื่อมั่นว่า ทางสำนักงานเขตไม่ได้ปิดกั้นหรือวางยาให้น้ำท่วมขังในชุมชนเป็นเวลานาน เมื่อน้ำลดลงแล้วเจ้าหน้าที่จะนำกระสอบทรายออกจากพื้นที่

ไร้วางยากทม.! ส.ก.ลาดกระบังเพื่อไทย เคลียร์ชัดปมกระสอบทรายยัดท่อ

ต่อมาที่ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า วานนี้ (14 ก.ย.) ลงพื้นที่เขตลาดกระบัง ร่วมกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ ฝ่ายในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเขตลาดกระบัง ซึ่งเป็นจุดที่วิกฤติที่สุด เนื่องจากมีปริมาณฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยเดือน ก.ย.ถึง 2 เท่า และเป็นจุดที่อ่อนแอมีการระบายน้ำได้ 3 ทาง คือ 1.ไปทางบางปะกงซึ่งปริมาณน้ำด้านนอกเยอะอยู่แล้ว 2.คลองสำโรง ระบายได้ยากเพราะเป็นแอ่ง และ 3.คลองประเวศออกพระโขนง มีระยะทางไกลกว่า 20 กม. รวมถึงคลองมีลักษณะคดเคี้ยวจึงเป็นจุดเมื่อมีน้ำเยอะจะระบายออกได้ช้า

สำหรับการลงพื้นที่เมื่อวาน มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วย อาทิ ทหารเรือนำเรือผลักดันน้ำมาช่วย กรมชลประทานมาติดตั้งปั๊มน้ำเพิ่มเติม แต่มีเหตุการณ์ที่ทหารเรือพบกระสอบทรายอุดท่อระบายน้ำ ตนเองก็ตกใจ เห็นภาพช่วงตี 3 เมื่อเช้า และได้โทรฯหา ผอ.เขตลาดกระบัง ตอนตี 4 สอบถามเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งผอ.ชี้แจงว่าเป็นวิธีการบล็อกน้ำในถนน เนื่องจากหากน้ำท่วมถนนหมดไม่สามารถสูบน้ำออกได้เพราะสูบไปน้ำก็จะวนกลับ จึงใช้วิธีนี้บล็อกท่อระบายน้ำกั้นเป็นโซนแล้วสูบน้ำออก เพื่อไม่ให้น้ำไหลวนเข้ามา อย่างน้อยทำให้ถนนสายหลักสามารถสัญจรได้สะดวกก่อน เมื่อน้ำไหลลงหมดแล้วก็สามารถเอาที่อุดท่อระบายน้ำออกได้ ลักษณะเหมือนการทำเขื่อนชั่วคราว ทั้งนี้ตนก็ไม่ได้เชื่อที่ ผอ.เขตลาดกระบัง อธิบายมา จึงได้สอบถามไปยังนาย อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาด้านการระบายน้ำ ระบุว่าวิธีนี้ถูกต้องแล้ว

ทั้งนี้ ที่กล่าวมาคือคำอธิบาย ยอมรับว่าตนไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เรามีหน้าที่ในการกำกับภาพรวม ปัญหาที่ผ่านมา หลายครั้งที่มีการบล็อกน้ำแล้วลืมเอาออก สุดท้ายก็อยู่นานและมีผลระยะยาว เข้าใจว่ามีประชาชนหวังดี เมื่อเห็นมีน้ำท่วมถนน ท่วมหมู่บ้าน เลยมาดูและเห็นท่อตันอยู่เลยแจ้งทหารเรือให้มาช่วยรื้อออก

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการอุดท่อเพื่อบล็อกน้ำบริหารจัดการน้ำแล้ว ที่สำคัญอย่าลืมเอาออก ซึ่งอาจจะมีหลายที่ที่ยังค้างอยู่ แต่เป็นข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งจะมอบหมายให้สำนักการระบายน้ำตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง ขอขอบคุณที่ช่วยกันแจ้งเรื่องเข้ามา

เมื่อถามว่า จากกรณีดังกล่าวสังคมออนไลน์ยังมีการตั้งข้อสงสัยว่า ผู้ว่าฯ กทม. จะโดนวางยาหรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า คงไม่นะ เพราะถ้าเกิดวางยา ผอ.เขตคงโดนก่อน และเรื่องพวกนี้ปิดกันไม่ได้

เมื่อถามถึงความคืบหน้าในการจ้างกรมราชทัณฑ์ในการลอกท่อระบายน้ำ นายชัชชาติ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ อาจชะลอเล็กน้อย เนื่องมีงานเยอะ หลังจากนี้จะหารือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอเพิ่มอัตรากำลัง และเท่าที่พูดคุยคนจำนวนมากรู้สึกดีขึ้น อาทิ คนที่อยู่ลาดพร้าวระบุว่าน้ำไหลลงเร็วขึ้น เชื่อว่าสิ่งที่ทำ 2 เดือนที่ผ่านมาได้ผล โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเส้นเลือดฝอย และปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่กรุงเทพฯ น้ำท่วม แต่เป็นกรุงเทพฯ บางส่วน มีประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่น้ำไม่ท่วม อีกทั้งปีนี้ฝนมาเยอะมาก ค่าเฉลี่ยฝนตกรวมขณะนี้ประมาณ 1,600 มม. ซึ่งเท่ากับค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ผ่านมา ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ กทม. ที่ผ่านมาทำงานอย่างหนัก มีการวางแผน มีการปรับปรุงหลายระบบ ทำให้เรารับน้ำได้จำนวนมากไม่ท่วมขังนาน ส่วนจุดอ่อนยอมรับว่าต้องปรับปรุงเพิ่ม เช่น ลาดกระบัง ซึ่งแก้ปัญหาระยะสั้นไม่ง่าย เพราะเป็นปัญหาด้านกายภาพ เมื่อวานจึงได้เสนอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี เรื่องทางด่วนน้ำเพื่อการระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วกว่าเดิม อาจจะเป็นคลองหรืออุโมงค์ที่เหมาะสม

สำหรับการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา กทม.ได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากรัฐบาลอย่างดีมาโดยตลอด ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สอบถามเรื่องน้ำท่วมมาตลอดและให้การช่วยเหลือหรือสั่งการต่างๆ หากต้องการอะไร ไม่มีปัญหากัน เราเป็นรัฐบาลท้องถิ่นต้องอาศัยรัฐบาลใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นไม่มีประโยชน์ที่เราจะไปขัดแย้งอะไร และการร่วมมือกันดีที่สุด เอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง

ส่วนกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หรือคอมเมนต์ต่างๆ ในโซเชียล นายชัชชาติ ระบุว่า ไม่ได้กังวล กังวลเพียงว่าจะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้อย่างไร ขอขอบคุณทุกคำแนะนำ โดยวันเสาร์นี้ (17 ก.ย.) จะนัดพูดคุยกับ นายเสรี ศุภราทิตย์ รองประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำร่วมกัน รวมถึงหารือกับจังหวัดใกล้เคียงให้มากขึ้นทั้งเรื่องน้ำ และการแก้ไขปัญหาฝุ่น pm2.5.