รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพครัวเรือนเดือน ก.ค.ปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 34.7 เป็นระดับต่ำกว่าเดือน เม.ย.63 ที่ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศเนื่องจากโควิด-19 ระบาดในระลอกแรก ซึ่งขณะนั้นดัชนีฯอยู่ที่ 35.1 แต่ในครั้งนี้เนื่องจากครัวเรือนเห็นว่าโควิด-19 ระบาดในไทยรุนแรงมากขึ้นจากสายพันธุ์เดลต้า ทำให้การเสียชีวิตสูงขึ้นและมาตรการควบคุมกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้ลดลง

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 36.6  จาก 38.9 ในเดือน มิ.ย. สะท้อนว่าครัวเรือนยังมีความวิตกกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพต่อเนื่อง โดยครัวเรือนมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับระดับราคาสินค้า ส่วนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนยังคงถูกกดดันจากความเปราะบางของฐานะการเงินที่สะสมมาจากการแพร่ระบาดในปีก่อนและปัจจุบันยังไม่สามารถฟื้นตัวได้สะท้อนผ่านหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงที่ 90.5% ของจีดีพีในไตรมาสแรกของปี 64 รวมทั้งครัวเรือนยังมีความกังวลเกี่ยวกับรายได้และจ้างงานเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ได้สำรวจเพิ่มเติมจากผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการล็อกดาวน์ใน 10 จังหวัดพื้นที่เสี่ยงพบว่า 64.2% ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ 64.2% มีรายได้จากการจ้างงานลดลง ขณะที่บางส่วน 14.3% ธุรกิจปิดกิจการและถูกเลิกจ้าง ซึ่งตรงนี้จะเป็นปัจจัยที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดแรงงานที่มีภาวะเปราะบาง โดยในไตรมาส 2 ปี 64 จำนวนผู้ว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 7.3 แสนคน ทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะแรงงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในภาคท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตามแม้ในเดือน ก.ค.64 จะมีการนำร่องเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์รับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ได้ต้องกักตัวตามเงื่อนไข แต่สถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศที่รุนแรงขึ้นส่งผลให้ในเดือน ก.ค.64 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาภูเก็ต 14,055 คน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อวันอยู่ที่ 5,400 บาท ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ภาครัฐเคยประเมินไว้ ว่าไตรมาส 3 จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 1 แสนคน ซึ่งขณะนี้ในภูเก็ตได้มีมาตรการคุมเข้มการระบาดเพิ่มขึ้นซึ่งจะส่งผลให้กิจกรรมรวมถึงสถานที่ต่าง ๆ ไม่สามารถเปิดได้เต็มที่

ส่วนมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจจากภาครัฐมีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยประคับประคองการดำรงชีพของครัวเรือน ซึ่งช่วงที่สำรวจภาครัฐได้มี 2 โครงการคือ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ จึงได้สำรวจเพิ่มเติมพบว่าครัวเรือนถึง 30.6% ที่ไม่ได้เข้าร่วมทั้ง 2 โครงการ เนื่องจากมองว่าขั้นตอนการสมัครมีความยุ่งยาก อีกทั้งโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่เป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีเงินออมมีผู้เข้าร่วมเพียง 2.9% และโครงการทั้ง 2 โครงการได้ออกมาช่วงก่อนมีการระบาดรุนแรงและมีมาตรการคุมเข้ม หากไม่ได้รุนแรงมากอาจทำให้โครงการต่าง ๆ จูงใจประชาชนให้เข้าร่วมได้เพิ่มขึ้น

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวดขึ้นจะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดแรงงานต่อเนื่องไปจนถึงกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ดังนั้นภาครัฐควรออกมาตรการเยียวยาที่ตรงจุดและเข้าถึงง่ายเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการจัดหา จัดสรร และแจกจ่ายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเร่งควบคุมสถานการณ์ เช่น การตรวจเชิงรุกเพราะทุกเวลาที่ผ่านไปคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่ภาคประชาชนและประเทศ