สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 28 ก.ค. ว่านายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง ทำพิธีสาบานตนต่อประธานาธิบดีฮาลิมาห์ ยาค็อบ ที่ทำเนียบอิสตานา เมื่อช่วงค่ำของวันจันทร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น เพื่อรับตำแหน่งผู้นำรัฐบาลสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ และเป็นสมัยที่ 9 ติดต่อกัน นับตั้งแต่ปี 2547
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันยังคงมีจำนวน 37 คน เท่ากับชุดที่แล้ว ซึ่งอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี 2558 จนถึงช่วงกลางเดือนก.ค. ที่ผ่านมา โดยนายเฮง สวี เกียต บุคคลซึ่งได้รับการวางตัวในฐานะ “ทายาททางการเมือง” ของผู้นำสิงคโปร์ ยังอยู่ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงการคลัง และเพิ่มการเป็นรัฐมนตรีผู้ประสานงานด้านนโยบายเศรษฐกิจ
ขณะที่นายเตียว ซี เฮียน และนายธาร์มัน ชัมมูกรัตนัม ดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีกิตติมศักดิ์” ต่อไป เช่นเดียวกับการยังควบหน้าที่รัฐมนตรีผู้ประสานงานด้านความมั่นคงแห่งชาติ และรัฐมนตรีผู้ประสานงานด้านนโยบายทางสังคมตามลำดับ ส่วนรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญที่เหลือเป็นบุคคลเดิมจากคณะรัฐมนตรีชุดปี 2558 แทบทั้งหมด
สำหรับการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการอีกครั้งของนายลี เซียน ลุง วัย 68 ปี เกิดขึ้นหลังเจ้าตัวนำพรรคกิจประชาชน ( พีเอพี ) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดเมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 61.24% แต่ลดลงมากกว่า 8% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว และถือเป็นผลงาน “ย่ำแย่ที่สุด” ในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศ เนื่องจากพรรรคคนงานแห่งสิงคโปร์ ( ดับเบิลยูพี ) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านนับตั้งแต่การสถาปนาสิงคโปร์ ได้รับการเลือกตั้งถึง 10 ที่นั่งเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ สิงคโปร์กำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจรุนแรงเช่นเดียวกับทุกประเทศบนโลก สืบเนื่องจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้นายลี เซียน ลุง “จำเป็นต้องอยู่ต่อ” แม้เคยลั่นวาจาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ว่าจะถ่ายโอนอำนาจให้กับ “คณะผู้นำรุ่นใหม่” ก่อนอายุครบ 70 ปี
ด้านนายลี เซียน ลุง กล่าวในช่วงหนึ่งของสุนทรพจน์รับตำแหน่ง ว่าเขาได้จัดตั้งคณะรัฐมนตรี “ดีที่สุดในตอนนี้” และรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพีเอพี “จะเปิดกว้างมากขึ้น” ในการรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกฝ่ายในสังคม และการกำหนดนโยบายในอนาคต เนื่องจากผลการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านไป บ่งชี้ชัดเจนว่า ชาวสิงคโปร์ต้องการ “การเมืองที่หลากหลายมากขึ้น”
อนึ่ง ถือเป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการด้วย ที่ผู้นำสิงคโปร์ประกาศชื่อผู้นำฝ่ายค้านในสภา คือนายปริตาม สิงห์ หัวหน้าพรรคดับเบิลยูพี ความเคลื่อนไหวที่มีการวิเคราะห์ว่าเป็นการส่งสัญญาณเบื้องต้นจากนายลี เซียน ลุง ในการยอมรับ “ประชาธิปไตยหลายพรรค”
เครดิตภาพ : REUTERS