โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะได้เห็นถึง “เกมบาลานซ์สมดุลอำนาจ” โดยความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ทำหน้าที่รักษาการนายกฯ จับสัญญาณจากการประชุม ครม.นัดล่าสุด ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง “รักษาการนายกฯ” โชว์ความฟิต ด้วยการทำหน้าที่นำประชุม ครม.เป็นครั้งแรกแบบลากยาวไม่มีพักเบรก พร้อมทั้งยืนยันว่า ไม่เหนื่อยกับการทำหน้าที่รักษาการนายกฯ โดยให้ใจบันดาลแรง “ใช้ใจบันดาลแรง ไม่ใช่ใช้แรงบันดาลใจ”

โดยผลการประชุม ครม.ก็เป็นไปโดยปกติ โดยประเดิมด้วยการแก้คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีปี 2563 ให้ “บิ๊กป้อม” มีอำนาจการแต่งตั้ง-โยกย้าย-ใช้งบประมาณ ได้โดยไม่ต้องผ่านความเห็นหรือปรึกษา นายกฯ ตัวจริง ที่อยู่ระว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” มีอำนาจเสมือนนายกฯตัวจริง ทำให้ที่ประชุม ครม.สามารถพิจารณาวาระสำคัญทั้งเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ข้าราชการระดับสูงลอตใหญ่ 6 กระทรวง ขนานกับการอนุมัติงบประมาณก้อนใหญ่ รวม 6.3 พันล้านบาท และยังมีวาระสำคัญจ่อคิวเข้าพิจารณาอีกเพียบ

ขณะที่ “บิ๊กตู่” ได้หลบฉากจากทำเนียบรัฐบาล และเข้าทำหน้าที่ รมว.กลาโหม ที่ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหมแทน และเข้าประชุม ครม. ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มาจากการกระทรวงกลาโหม เพื่อลดแรงเสียดทานทางการเมือง ขณะที่ทำเนียบรัฐบาลมีการเว้นที่นั่งหัวโต๊ะที่เดิม ของ “บิ๊กตู่” เอาไว้  โดยที่ “บิ๊กป้อม” ยังคังนั่งที่รองนายกฯ ตามเดิม เหมือนเช่นการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา

ทั้งนี้เมื่อจับสัญญาณความเคลื่อนไหวแล้ว ก็จะเห็นได้ชัดถึง “เกมบาลานซ์สมดุลอำนาจ” ระหว่าง “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” ที่ยังคงบริหารจัดการอำนาจในกำมือ “พี่น้อง 3 ป.” ได้อย่างลงตัว ณ ตอนนี้ แต่หากสมการอำนาจเปลี่ยน “เกมบาลานซ์สมดุลอำนาจ” อาจจะเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน!

ท่ามกลางแรงกดดันให้ปรับ ครม. ที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ จากโควตาเก้าอี้ 2 รมช. ที่ยังคงว่างเว้นอยู่ และยิ่งเพิ่มแรงกดดันมากขึ้น ภายหลัง ศาลฎีกาสั่งให้ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากเหตุที่ถูก ป.ป.ช. ยื่นคำร้องคดีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ปมรุกที่ป่าเขาใหญ่ และยังมีกรณี นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยชี้ขาดความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ จากเหตุถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง นายก อบจ.สงขลา

แม้งานนี้ “บิ๊กป้อม” จะยังคงมีท่าทียืนกรานว่า ไม่มีการปรับ ครม. ในช่วงที่อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกฯ แต่หากปมปัญหาวาระ 8 ปี “บิ๊กตู่” ไม่จบลงโดยง่าย ประกอบกับแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลมีมากขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว…การปรับ ครม. ก็อาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้!

ปรับโฟกัสจากเกมอำนาจมาที่การพิจารณาปมวาระ 8 ปีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งล่าสุดทีมกฎหมายของ “บิ๊กตู่” ได้ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาสาระเหตุผลประกอบคำร้องรวม 30 กว่าแผ่น ชี้แจงครบถ้วนทุกประเด็นตามคำร้องที่ถูกร้องเรียน มุ่งชี้ให้เห็นถึงที่มาไปของการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ “บิ๊กตู่” โดยยกข้อมูลทางกฎหมายประกอบ จึงมีความมั่นใจในเนื้อหาที่ได้ชี้แจงไป

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านเองก็ยังคง “กัดไม่ปล่อย” โดยความเคลื่อนไหวล่าสุด นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยตัวแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นความเห็นของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ 51 คน ความเห็น อดีตกรรมการ ป.ป.ช. และอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา เกี่ยวกับประเด็นการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี ของ “บิ๊กตู่”

ดังนั้นหลังจากนี้คงจะต้องนับถอยหลัง จับตากระบวนการพิจารณาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะสามารถมีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวได้รวดเร็วแค่ไหน และจะเป็นไปในทิศทางใด…อีกไม่นานคงได้รู้กัน

แม้ขณะนี้คีย์แมนคนสำคัญของรัฐบาลจะยังมองว่า “บิ๊กตู่” น่าจะผ่านวิกฤติวาระ 8 ปีในครั้งนี้ไปได้ ด้วยมุมมองตามทฤษฎีที่ว่า “บิ๊กตู่” เข้าสู่อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เมื่อรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 การดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2557 ก็ต้องถือว่าหมดไปแล้ว และต้องเริ่มนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2560 ทั้งนี้อาจจะมองได้ว่าการตีความลักษณะนี้ เป็นการตีความเข้าข้างฝ่ายตัวเอง แต่งานนี้ตราบใดที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยก็ยังไม่มีใครสามารถชี้ชัดได้ว่าปลายทางเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร…ดังนั้นทุกแนวทางการตีความที่ถูกพูดถึงในช่วงก่อนหน้านี้ อาจเป็นไปได้ทั้งสิ้น

ถึงแม้ตามทฤษฎีแล้ว “บิ๊กตู่” ยังพอมีโอกาสไปต่อได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า เส้นทางการเมืองขณะนี้ มองไปข้างหน้ามีแต่ความมืดมน จนประเมินถึงความเป็นไปได้ยาก

เพราะหาก “บิ๊กตู่” ได้ไปต่อในตำแหน่งนายกฯ แต่หนทางข้างหน้าไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลายอย่างแน่นอน ทั้งความสุ่มเสี่ยงเรื่องรอยร้าวความสัมพันธ์ “พี่ใหญ่-น้องเล็ก” เนื่องจากมีกระแสข่าวหนาหูว่า “บิ๊ก ป.คนที่สี่” ถูกเพิ่มเข้ามาในสมการอำนาจ จนอาจส่งผลให้การบริหารจัดการอำนาจและความสัมพันธ์หลังจากนี้ยุ่งยากขึ้น รวมไปถึงปัญหา “วิกฤติศรัทธา” ที่แก้ไม่ตก ทั้งในส่วนของ “บิ๊กตู่” และในส่วนของพรรคพลังประชารัฐ จนทำให้เกิดวิกฤติไม่เอาลุงๆ พุ่งทะยาน!

ทั้งนี้หากมองไปไกลถึงช่วงหลังการเลือกตั้ง แม้จะมีการพูดถึง “สูตรอำนาจ” ที่จะอาศัยการจับมือกับของกลุ่มขั้วอำนาจเดิม ระหว่าง พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ เป็นแกนหลัก ผนวกกำลังกับ 250 ส.ว. ที่นั่งรออยู่ในสภา ก่อนร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้งตามสูตรสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2562 ก็ตามที แต่ในความเป็นจริงแล้วการสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า สำหรับพรรคพลังประชารัฐ ยากที่จะประเมินเรื่องอนาคต เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายในพรรคอีกหรือไม่ ยังไม่รู้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะไปไหวหรือไม่ ในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ไม่รู้ว่ากระแสนิยมพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคจะเป็นไปในทิศทางใดเมื่ออำนาจตัดสินใจเป็นของประชาชน

และยิ่งไปกว่านั้น หากท้ายที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทย สามารถสร้างปรากฏการณ์แลนด์ไสลด์ทางการเมืองได้สำเร็จ การที่กลุ่มขั้วอำนาจเดิมจะกลับมาร่วมมือกัน โดยอาศัย “สูตรอำนาจ” ชิงตัดหน้าจัดตั้งรัฐบาลเหมือนที่เคยเกิดขึ้น คงจะเป็นเรื่องที่หาคำตอบให้กับสังคมได้ยาก!

ดังนั้นจึงเริ่มมีการพูดถึง “สูตรสำรอง-สูตรกันเหนียว” โดยอาศัยแนวทางปรองดองภายใต้ โมเดลการจับมือของ 2 ขั้วอำนาจใหญ่ พรรคพลังประชารัฐ-พรรคเพื่อไทย เพื่อสร้างความปรองดองทางการเมือง จึงกลายเป็นโจทย์ท้าทายที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในวงยุทธศาสตร์การเมือง ที่กำลังมองหาทางออกในวิกฤติการเมืองขณะนี้ แม้โมเดลนี้ “บิ๊กป้อม” และ “โทนี่ วู้ดซัม” ทักษิณ ชินวัตร จะออกมาปฏิเสธโดยตลอด แต่ท้ายที่สุดแล้วความเป็นไปได้ทางการเมือง…อะไรก็อาจจะเกิดขึ้นได้

สุดท้ายแล้ว…ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออำนาจเช่นนี้ ยังเป็นเรื่องที่คนไทยต้องลุ้นระทึก! เพราะหลังจากนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้