เมื่อวันที่ 1 ก.ย. พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ตามที่มีสื่อนำเสนอข่าว ส.ต.ท.หญิงทำร้ายอดีตทหารหญิง เมื่อ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยในรายละเอียดระบุว่า สิบตำรวจโทหญิงคนดังกล่าวเป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) แต่ได้มาปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการอยู่กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น ทาง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการ เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งผลการสอบสวนในข้อเท็จจริงมีรายละเอียดดังนี้

1.ส.ต.ท.หญิงคนที่ถูกระบุในข่าวคือ สิบตำรวจโทหญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เป็นกำลังพลที่มาปฏิบัติหน้าที่ช่วยราชการที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สังกัด สำนักอำนวยการข่าวกรอง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งแต่ 1 ต.ค.64 ซึ่งเจ้าตัวทำเรื่องสมัครขอมาช่วยราชการกับสำนักอำนวยการข่าวกรอง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้พิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสม จึงได้ดำเนินการขออนุมัติบรรจุไปตามขั้นตอนงานด้านกำลังพลภายใต้ระเบียบข้อปฏิบัติของทางราชการ

2.ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้รับมอบหมายภารกิจทางด้านงานข่าว เป็นผู้ประสานการปฏิบัติด้านธุรการในระดับเจ้าหน้าที่และอำนวยความสะดวกให้กับผู้แทนหน่วยในการปฏิบัติงานนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกี่ยวกับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า

3.ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ ได้ถูกแจ้งข้อกล่าวหา ในคดีอาญา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าถึงแม้ว่าตามข้อกล่าวหาจะเป็นความผิดส่วนบุคคลแต่พฤติกรรมตามลักษณะดังกล่าว ถือว่าขัดกับระเบียบและหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ จึงออกคำสั่งพ้นหน้าที่ฯ

4.เมื่อวันที่ 19 ส.ค. และส่งตัวกลับต้นสังกัด ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการสอบสวน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า มีความเห็นว่า ส.ต.ท.หญิงกรศศิร์ ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามความสามารถ และไม่มีผลงานตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายเป็นที่ประจักษ์ จึงยกเลิกให้ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วย สำนักอำนวยการข่าวกรอง กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64-31 ก.ค.65 พร้อมกับดำเนินการเรียกคืนเงินค่าตอบแทนพิเศษที่เบิกจ่ายไปแล้ว

5.สำหรับผู้ปฏิบัติงานให้กับ กอ.รมน. ในปัจจุบันมีอยู่ 3 ส่วน ส่วนแรก คือ ผู้ปฏิบัติงานในอัตราประจำส่วนใหญ่ปฏิบัติงานอยู่ที่ กอ.รมน.ส่วนกลาง ได้แก่ ข้าราชการพลเรือนประจำ กอ.รมน., พนักงานราชการ กอ.รมน. และลูกจ้างชั่วคราว กอ.รมน. ส่วนที่สองคือ ผู้ปฏิบัติงานที่เป็นไปโดยตำแหน่งตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 เช่น นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. ผู้บัญชาการทหารบกเป็น รอง ผอ.รมน. เสนาธิการทหารบกเป็น เลขาธิการ กอ.รมน. แม่ทัพภาคเป็น ผอ.รมน.ภาค และ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น ผอ.รมน.จังหวัด ส่วนที่สาม คือ กำลังพลผู้ปฏิบัติงานในอัตราช่วยราชการแบบปีต่อปี ซึ่งจะเป็นกำลังพลส่วนใหญ่ประกอบด้วย พลเรือน ตำรวจ และทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ

6.ส่วนเรื่องสวัสดิการสิทธิประโยชน์สำหรับข้าราชการที่มาบรรจุในอัตราช่วยราชการที่ กอ.รมน. จะได้รับการนับวันรับราชการเป็นแบบวันทวีคูณและสำหรับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับสิทธิเพิ่มขึ้นในเรื่องของ เบี้ยเลี้ยงสนาม ค่าเสี่ยงภัย และอาจได้รับเงินเพิ่มพิเศษเพื่อการสู้รบ (พสร.) กรณีถ้าอยู่ปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และมีการลาพักออกนอกพื้นที่ไม่เกิน 15 วัน โดยจะต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการกลั่นกรองตรวจสอบก่อนถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ในส่วนนี้.