สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่า กระทรวงยุติธรรมของเกาหลีใต้ออกแถลงการณ์ เมื่อวันจันทร์ ว่านายอี แจ-ยอง วัย 53 ปี รองประธานบริหารของบริษัทซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ คือหนึ่งในนักโทษ 810 คน ซึ่งจะได้ออกจากเรือนจำก่อนกำหนด โดยการปล่อยตัวจะเกิดขึ้นในช่วงสายของวันศุกร์ที่ 13 ส.ค.นี้ตามเวลาท้องถิ่น เนื่องในโอกาสวันฉลองอิสรภาพเกาหลี ตรงกับวันที่ 15 ส.ค.ของทุกปี
สำหรับวันดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในธรรมเนียม ที่ประธานาธิบดีเกาหลีใต้จะให้อภัยโทษ และลดโทษเป็นกรณีพิเศษ ให้กับนักโทษที่เข้าเกณฑ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการแสดงความสมานฉันท์ในประเทศ
รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่ได้ให้เหตุผลชัดเจน ประกอบการปล่อยตัวนายอี-แจ-ยอง ซึ่งในทางพฤตินัยถือเป็นผู้บริหารสูงสุดของอาณาจักรซัมซุง เนื่องจากเป็นบุตรชายคนโตของนายอี คุน-ฮี ประธานผู้ล่วงลับ แต่นายปาร์ค บอม-คเย รมว.ยุติธรรมของเกาหลีใต้ กล่าวว่า "เกี่ยวเนื่องสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ และเงื่อนไขด้านการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ"
อย่างไรก็ตาม นายอี แจ-ยอง จะยังไม่สามารถกลับเข้าไปบริหารซัมซุงได้ทันที หลังได้รับอิสรภาพ เนื่องจากกฎหมายอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ ห้ามบุคคลซึ่งต้องคดีที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 500 ล้านวอน ( ราว 14.5 ล้านบาท ) ทำงานให้กับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับความผิดนั้น เป็นเวลา 5 ปี โดยการนับเวลาจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่บุคคลนั้นได้รับอิสรภาพ
อนึ่ง ศาลไฮคอร์ตในกรุงโซลมีคำพิพากษาเมื่อเดือน ม.ค.ปีนี้ ว่านายอี แจ-ยอง นักธุรกิจชื่อดังของเกาหลีใต้มีความผิดจริงในข้อหาติดสินบน ฉ้อโกง และปิดบังซ่อนเร้น ซึ่งส่งผลต่อการพิจารณาตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรม และสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าประมาณ 8,600 ล้านวอน ( ราว 251.3 ล้านบาท ) ซึ่งผู้ที่ได้รับ "ผลประโยชน์โดยตรง" จากความผิดของจำเลย คืออดีตประธานาธิบดีปาร์ค กึน-เฮ และนางชเว ซุน-ซิล เพื่อนของอดีตผู้นำหญิง
ทั้งนี้ ศาลพิพากษาให้จำเลยรับโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปีครึ่ง โดยให้นับต่อจากการรับโทษแล้วประมาณ 1 ปี ระหว่างปี 2560 ถึง 2561 เท่ากับว่านายอี แจ-ยอง ต้องรับโทษในเรือนจำต่ออีกประมาณ 18 เดือน และจนถึงตอนนี้เท่ากับว่า นายอี แจ-ยอง รับโทษจำคุกเกิน 60% ของบทลงโทษแล้ว จึงเข้าข่ายขอรับการพิจารณาปล่อยตัวภายใต้เงื่อนไข.
เครดิตภาพ : AP