เมื่อวันที่ 30 ส.ค. นายเสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่าในช่วง 3 เดือนนี้ เดือน ก.ย.-ต.ค.-พ.ย. ประเทศไทยจะมีปริมาณฝนตกหนักมากขึ้นและระยะเวลายาวขึ้น ซึ่งไม่รู้ว่าพายุจะเข้าช่วงไหน จากที่กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าพายุปีนี้อาจเข้าไทย 2-3 ลูก อาจจะมีโอกาสเป็นฝนในรอบ 100 ปี เพราะดูจากสถานการณ์ฝนที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นฝนรอบ 80 ปี ซึ่งกรุงเทพฯ สมัย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.เคยมีฝนตกรอบ 100 ปี และปัจจุบันโอกาสจะเกิดฝนตกหนักเช่นนั้นก็มีมาก ดูจากสถานการณ์ฝนปีนี้ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ดังนั้นสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 มีโอกาสเป็นไปได้สูงเพราะปริมาณน้ำฝนเท่ากัน แต่ลักษณะการท่วมแตกต่างจากปี 2554 ที่มาเร็วจากน้ำหลากและการระบายน้ำออกจากเขื่อนใหญ่ ซึ่งปีนี้จะมาจากน้ำฝน แนวพายุเข้าที่อาจจะเลื่อนมาภาคกลาง ทำให้น้ำเต็มทุ่งจนล้นเข้ามาท่วมพื้นที่เศรษฐกิจ เขื่อนป่าสักฯ น้ำเต็มเขื่อน ระบายน้ำลงมาฝั่งตะวันออก หากน้ำเอ่อท้นมาถึงคลองรังสิต และส่วนทางฝั่งตะวันตก น้ำล้นคลองพระยาบรรลือ เมื่อไหร่ให้คนกรุงเทพฯ เตรียมป้องกันตัวเองก่อน เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พื้นที่หน่วงน้ำมีน้อย ภาครัฐอาจต้องทำความเข้าใจล่วงหน้ากันว่ามีพื้นที่ถูกท่วม สูงประมาณ 1 เมตร ทั้งนี้ในส่วนรัฐบาลเองขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่จะชี้แจงต่อประชาชนอย่างชัดเจนว่ารับมืออย่างไร มีเพียง 13 มาตรการตามเดิมที่ป้องกันอะไรไม่ได้ เช่นปี 2564 น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี ปทุมธานี ประชาชนก็เกิดความขัดแย้ง ประท้วงปิดถนน ไม่ต้องการให้ระบายน้ำเข้าพื้นที่และให้เร่งระบายออก เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ลงไปทำความเข้าใจก่อนเกิดเหตุ
“ปีนี้มีเหตุการณ์ 3 ปัจจัยหลัก คือ เดือนกันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ฝนตกหนักมากจริงๆ และยาวนาน อีกทั้งพายุที่จะเข้าไม่ทราบว่าจะเข้าช่วงไหน อาจจะรู้ล่วงหน้าได้ประมาณ 10 วัน และปริมาณฝนตกเท่าไหร่ รวมทั้งพื้นที่ทุ่งลุ่มเจ้าพระยา รับน้ำใช้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ ชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวได้หมดภายใน 15 วันนี้หรือไม่ ถ้าต้องผันน้ำเข้าทุ่งความเสียหายจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องทำฉากทัศน์จำลองเหตุการณ์ไว้ล่วงหน้าหลายๆ แบบ แล้วนำข้อมูลออกมาบอกให้ประชาชนเข้าใจจะได้ไม่เกิดกรณีประท้วง ไปปิดประตูระบายน้ำ สำหรับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะต้องชี้แจงข้อมูล เปิดเผยแผนการรับมือต่างๆ ให้คนกรุงเทพฯ รับทราบและเกิดความเข้าใจถึงสถานการณ์ฝนที่จะตกหนักมากขึ้นต่อเนื่องจากนี้เพื่อให้เตรียมป้องกันตนเองก่อน รัฐบาลด้วยอย่ารอใช้แต่มาตรการเยียวยาช่วยเหลือเพราะการป้องกันย่อมดีกว่าปล่อยให้ประชาชนทะเลาะกันเอง อย่ากลัวว่าจะตื่นตระหนก ซึ่งคนที่ตื่นตระหนกคือคนที่รอดเพราะทุกคนล้วนเคยมีประสบการณ์จากปี 54 มาแล้ว” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวว่า องค์กรนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก ได้ทำแผนที่พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล พบว่าจะจมหายไปจากแผนที่โลกในปี ค.ศ.2100 แบบร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ขณะนี้ได้ขึ้นรหัสโค้ชเรด เตือนประเทศไทยแล้ว ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจทำอะไรป้องกัน ก็ต้องเตรียมย้ายเมืองหลวงได้เลย เพราะหากตัดสินใจวันนี้ จะใช้เวลาอีก 30 ปีกว่าจะแก้ไขได้ เช่น ทำเขื่อนปิดอ่าว ทำพนังกั้น ทำประตูกันน้ำทะเล ไม่ว่าจะเป็นประเทศเนเธอร์แลนด์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศได้ทำการป้องกันตั้งแต่ 30 ปีก่อน และจนปัจจุบันจึงจะสำเร็จทั้งในการแก้ข้อขัดแย้งกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งของไทย ก็สามารถทำเขื่อนกันน้ำทะเลจากพัทยาไปถึงชะอำ จ.เพชรบุรี และให้เอกชน ประชาชน มาร่วมกันพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเขตอุสาหกรรมสะอาด เหมือนกับเกาหลีใต้ พัฒนาพื้นที่ในอ่าวเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้โซลาร์เซลล์ เพราะน้ำในอ่าวที่อยู่ในเขื่อนจะกลายเป็นน้ำจีด ก็จะกระทบกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง