เรียกได้ว่ากลายเป็นเรื่องราวที่ชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ต่างพากันแชร์ และพูดถึงกันอย่างมากมาย หลังมีการแชร์เนื้อหาการเขียนคำทับศัพท์ภาษาต่างประเทศจากราชบัณฑิตยสภา โดยอ้างว่าปรากฏในพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1-2 อาทิ พ้าร์ตทาย์ม/พ้ารตไทม์, ค็อฟฟี่ฉ็อป, เวิ้ร์กฉ็อป, พรีเหมี่ยร์, ก็อล์ฟ, บุ๊ฟเฟ่ต์ จนทำโลกออนไลน์ต่างพากันถกเถียงการสะกดคำดังกล่าวกันยกใหญ่ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าล่าสุด แฟนเพจเฟซบุ๊กสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า “คำในพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1-2 ได้มีการแก้ไขในฉบับพิมพ์ปัจจุบัน (พ.ศ. 2557) แล้ว หนังสือพจนานุกรมคำใหม่ ได้รวบรวมคำที่เกิดขึ้นและใช้ในยุคหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าประวัติที่มาของคำ ซึ่งท่านสามารถอ้างอิงรูปเขียนคำที่ถูกต้องในปัจจุบันได้จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หรือหนังสืออ้างอิงต่าง ๆ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาที่เป็นฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด”

พร้อมทั้งโพสต์ภาพที่มีข้อความว่า “ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างหนังสือพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1-2 พร้อมระบุว่าเป็น “ศัพท์ใหม่ของราชบัณฑิตยสถาน” นั้น ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเดิมที่ปรากฏในพจนานุกรมคำใหม่ เล่มที่ 1 ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2550 และพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 2 ฉบับพิมพ์ พ.ศ.2552

ปัจจุบันข้อมูลดังกล่าวได้มีการแก้ไข ปรากฏในพจนานุกรมคำใหม่ เล่ม 1-2 พ.ศ.2557 ตัวอย่างคำศัพท์ ดังนี้ กอล์ฟ, คอมเมนต์, คอฟฟีช็อป, เทสต์, พาร์ตไทม์, บุฟเฟต์, เวิร์กช็อป

หนังสือดังกล่าวรวบรวมคำที่เกิดขึ้นและใช้ในยุคหนึ่งเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าประวัติที่มาของคำ ซึ่งท่านสามารถอ้างอิงรูปเขียนคำที่ถูกต้องได้ในปัจจุบันได้จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับ พ.ศ.2554 หรือหนังสืออ้างอิงต่างๆ ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาที่เป็นฉบับพิมพ์ครั้งล่าสุด”..

ขอบคุณภาพประกอบ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา