เรื่องราวที่สร้างความเสียใจแก่ครอบครัวและแฟนๆ ที่ชื่นชอบ เมื่อ นายจำเนียร มูลเกษร อายุ 52 ปี หรือ ดอกไม้ป่า ป.พงษ์สว่าง อดีตนักมวยไทยชื่อดังค่าตัวเงินแสนได้เข้ารักษาตัวที่ รพ.กาฬสินธุ์ หลังถูกสัตว์มีพิษคาดว่าเป็น “ตะขาบ” กัดที่บริเวณต้นขาซ้าย มีอาการหนาวสั่น เวียนหัว และเป็นไข้ ซึ่งอาการโคม่า ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา และแพทย์ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดก่อนจะเสียชีวิตลง
เป็นที่น่าแปลกใจว่า ถูกสัตว์มีพิษกัดต้องถึงเสียชีวิตเลยหรือไม่ แล้วหากเราถูกกัดจะมีวิธีป้องกันอย่างไร วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” มีคำตอบมาให้ทราบกัน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ตะขาบ (Centipedes) จัดอยู่ใน Class Chilopoda เป็นสัตว์ขาข้อที่พบได้ทั่วไปในแถบร้อนชื้น อาศัยอยู่บนบก ตะขาบมีขนาดความยาวลำตัวตั้งแต่ 3 – 8 เซนติเมตร ลำตัวแบนราบ มีปล้อง 15 – 100 ปล้อง แต่ละปล้องมีขา 1 คู่ ส่วนหัวแยกจากลำตัวชัดเจน มีหนวด 1 คู่ โดยมีเขี้ยวพิษ 1 คู่ ซึ่งดัดแปลงมาจากปล้องแรกของลำตัวเชื่อมต่อกับต่อมพิษ พิษของตะขาบประกอบด้วยสารสองกลุ่มใหญ่ คือ 1. สารที่เป็นเอนไซม์ หรือน้ำย่อย ซึ่งสารหลักในกลุ่มนี้คือ proteinases และ esterases 2. สารก่อปฏิกิริยาอักเสบต่อร่างกาย ได้แก่ hydroxytryptamine หรือ cytolysin
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า อาการเมื่อถูกตะขาบกัด จะพบรอยเขี้ยว 2 รอย ลักษณะเป็นจุดเลือดออกตรงบริเวณที่ถูกกัด สารพิษจากตะขาบจะทำให้เกิดการอักเสบ ปวดบวมแดง ร้อน และชาตรงบริเวณที่ถูกกัด อาการปวดมักจะมีความรุนแรงปานกลางถึงมาก โดยอาจจะมีอาการปวดแปลบ (paresthesia) ร่วมด้วย อาการแทรกซ้อน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนตรงบริเวณที่ถูกกัด อาจเป็นแผลไหม้อยู่ 2 – 3 วัน ในบางรายอาจมีอาการแพ้หรือกระวนกระวาย อาเจียน หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มึนงง ปวดศีรษะ
ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวต่อว่า การรักษาพิษของตะขาบ โดยทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาดหรือสบู่อ่อนๆ ใช้ผ้าพันแผลพันไว้และประคบเย็น ให้ยาแก้ปวด ถ้าปวดมากอาจใช้ยาชาเฉพาะที่ เช่น Xylocane ฉีดเข้าตรงบริเวณที่ถูกกัด ให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อโรคถ้ามีการติดเชื้อแทรกซ้อน และสอบถามเรื่องประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น บวมมาก ปวดมาก หรือมีประวัติของการแพ้มากให้รับไว้รักษาในโรงพยาบาลทันที การพยากรณ์โรคโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะสามารถหายได้ตามปกติ โดยอาการปวดจะปวดมากในวันแรกๆ แต่จะหายภายใน 3-4 วันเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ เคยมีรายงานการเสียชีวิตจากตะขาบ 1 รายจากประเทศฟิลิปปินส์.