กรณี นายปวริศหรือเปา รังสิต อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ถูกรุ่นพี่ชั้นปีที่ 3 คณะเดียวกัน สั่งทำโทษจนม้ามแตกต้องตัดออกในเวลาต่อมา ทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่า หากชีวิตคนเราปราศจากอวัยวะที่เยกว่า “ม้าม” จะสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ วันที่ 23 ก.ค. ศ.ดร.นพ.อิศรางค์ นุชประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและมะเร็งเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ผ่าน “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่า ม้ามมีหน้าที่กรองหรือกำจัดเม็ดเลือดที่แก่ตัว เพราะในร่างกายคนนั้น เม็ดเลือดจะมีอายุได้ระหว่าง 120 วัน ซึ่งเม็ดเลือดที่แก่ตัวเปราะบาง จะถูกม้ายกำจัดออกไป คงเหลือไว้แต่เม็ดเลือดที่โค้งตัวงอได้ที่ยังมีลักษณะสมบูรณ์ ทั้งนี้ในทางธรรมชาติแล้ว มักจะไม่มีสาเหตุใดที่ไปทำลายม้ามได้ นอกเสียจากว่าได้รับอุบัติเหตุ หรือถูกกระทำอย่างรุนแรงบริเวณช่องท้องด้านซ้าย หลังกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นตำแหน่งของม้าม เลือดจะไหลออกเยอะมาก หากรักษาไม่ทันหรือไม่ติดทิ้ง คนไข้ก็จะเสียเลือดในเวลาอันรวดเร็ว และเสียชีวิตได้

นพ.อิศรางค์ กล่าวอีกว่า หากไม่มีม้ามคนเราก็ยังสามารถมีชีวิตอยู่ได้ เพียงแต่ว่าภูมิคุ้มกันอาจจะลดต่ำลง เกล็ดเลือดแข็งตัวง่าย และมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนปกติ เช่น มีไข้แล้วติดเชื้อ อย่าไว้ใจไข้หวัด เพราะถ้าหากติดเชื้อแล้ว เสี่ยงทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงตามมา ดังนั้นผู้ที่ไม่มีม้ามเมื่อเป็นไข้หวัดแล้ว วิธีรักษาอาการอาจจะต้องให้ยาปฏิชีวนะเลย แต่ก็มีโรคบางโรคอย่าง โรคเกล็ดเลือดต่ำ ที่เป็นแล้วต้องตัดม้ามออก เพราะไปทำลายเกล็ดเลือด