เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 26 กรกฎาคม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จพร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเปิดสำนักงานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย แห่งใหม่ ซึ่งมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานกรรมการบริหาร คณะกรรมการ ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ, หม่อมหลวงสราลี กิติยากร, นางสายสม วงศาสุลักษณ์ กรรมการมูลนิธิฯ เฝ้ารับเสด็จ ณ สำนักงานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
ครั้นเสด็จถึง เสด็จไปยังบริเวณด้านหน้าสำนักงาน ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายเปิดอาคาร “สำนักงานมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย” แห่งใหม่ จากนั้นเสด็จเข้าอาคารมหิทรเดชานุวัตน์ ทอดพระเนตรร้านกาแฟพาเฟ่ (PAfé) ร้านกาแฟภายใต้แนวคิด “สุขที่ได้แบ่งปัน” โดยได้นำเมล็ดกาแฟและสินค้าชุมชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย และพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุทกภัย อาทิ “กาแฟห้วยห้อม” กาแฟอาราบิก้าจากบ้านห้วยห้อม อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน “กาแฟคลองยัน” กาแฟโรบัสต้าจากพื้นที่ลุ่มน้ำคลองยัน อ.วิภาวดี จ.สุราษฎร์ธานี มาจำหน่าย รวมถึงมีการจำหน่ายสินค้าที่ระลึกของ “ร้านพึ่งพา” และผลิตภัณฑ์ยั่งยืนจากชุมชนผู้ประสบอุทกภัย รายได้จากการจำหน่ายจะนำสมทบทุนมูลนิธิฯ เพื่อใช้ในการกิจกรรมสาธารณกุศลต่อไป
และทอดพระเนตรนิทรรศการภารกิจของมูลนิธิฯ ทั้ง 3 ด้าน ผ่านรูปแบบโมเดลเสมือนจริง ตั้งแต่ “การเฝ้าระวังก่อนเกิดอุทกภัย” นำเสนอเรื่องราวของการเตือนภัยผ่านสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ รวมถึง “การบรรเทาทุกระหว่างเกิดอุทกภัย” ประกอบด้วยถุงยังชีพพระราชทาน สัญลักษณ์แห่งขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย โดยจัดแสดงถุงยังชีพพระราชทาน สีม่วง สีส้ม สีน้ำเงิน สีเหลืองสำหรับภิกษุ และรถประกอบอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ช่วยด้วยใจคนไทยไม่ทิ้งกัน และ “การฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัย” จำลองการเข้าฟื้นฟูชุมชนผู้ประสบภัยตั้งแต่การเข้าซ่อมแซม ทำความสะอาดที่อยู่อาศัย ฟื้นฟูแหล่งน้ำให้มีน้ำใช้ในฤดูแล้งและป้องกันน้ำหลากในฤดูฝน ตลอดจนฟื้นฟูอาชีพชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน
ต่อมาเสด็จขึ้นชั้น 2 โดยลิฟต์ ทรงวางพวงมาลัยถวายสักการะพระพุทธรูปประธาน ทรงคม ก่อนเสด็จขึ้นชั้น 3 ทอดพระเนตรภายในสำนักงานมูลนิธิฯ แล้วเสด็จลงชั้น 1 โดยลิฟต์ เสด็จออกจากอาคารสำนักงานมูลนิธิฯ และเสด็จกลับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
อนึ่ง เมื่อต้นปี 2565 มูลนิธิฯ ได้ย้ายสำนักงานมายังอาคารมหินทรเดชานุวัตน์ เพื่อดำเนินภารกิจสู่การเป็นศูนย์กลางความเป็นเลิศด้านการบรรเทาทุกข์และจัดการภัยพิบัติอันเกิดจากอุทกภัย (Center of Excellence in Flood Relief and Management) ตามพระนโยบายของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และมุ่งสู่การเป็นต้นแบบของโลก ในการบรรเทาทุกข์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
สำหรับอาคารมหินทรเดชานุวัตน์ เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ปี 2526 ลักษณะสถาปัตยกรรมรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2472-2474 เป็นอาคาร 2 ชั้น หลังคาปั้นหยา มีมุขยื่นทางด้านหน้าจากสองปีกของอาคาร สร้างความแตกต่างจากอาคารแนวคลาสสิกในยุคก่อน โดยใช้หลังคามุขด้านหนึ่งเป็นจั่วปาดมุม อีกด้านทำราวลูกกรงล้อมหลังคา เดิมเป็นบ้านพักของมหาอำมาตย์โท พระยามหินทรเดชานุวัตน์ (ใหญ่ ศยามานนท์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์.