ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นอเนกอนันต์ เพื่อธำรงความผาสุกร่มเย็นของปวงชนชาวไทย ทรงพัฒนาไทยในทุกๆ ด้านสู่ความอยู่ดีกินดี ดั่งพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินเป็นธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยที่จะสืบสานรักษา และต่อยอด แนวพระราชดำริ และพระราชกรณียกิจ ในพระบรมชนกนาถ และพระบรมราชชนนี ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้อาณาราษฎร เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 70 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 จึงได้ร้อยเรียงพระราชกรณียกิจ 7 ด้าน ที่ทรงปฏิบัติเพื่อความอยู่ดีมีสุขของชาวไทยทุกหมู่เหล่า ภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร

แสงแห่งพระราชา ส่องสว่างทางการศึกษา สร้างชีวิตมั่นคงแก่อนาคตของชาติ”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนับสนุนด้านการศึกษา เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำริให้ดำเนิน “โครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเมื่อปี 2552 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษาให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคง อันเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถและศักยภาพแก่เยาวชนไทย

ต่อมาในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้ง “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)” โดยทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาอยู่ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนสืบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเด็กและเยาวชนไทยทั่วประเทศที่มีผลการเรียนดี ประพฤติดี มีคุณธรรม แต่ขาดโอกาสทางการศึกษาให้ได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือเทียบเท่าในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ

อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องดีงาม ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และประเทศชาติ บ่มเพาะความมีวินัย รวมทั้งพัฒนาศักยภาพความสามารถในการเรียนรู้ให้เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้อย่างต่อเนื่องมีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ อันจะช่วยสร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงเข้มแข็งแก่เด็กและเยาวชนไทยผู้ที่ได้รับทุนพระราชทาน สามารถเติบโตเป็นคนดีมีคุณภาพ นำความรู้กลับไปทำงานพัฒนาท้องถิ่นชุมชน มีสัมมาชีพมั่นคง เป็นพลเมืองที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ

ปัจจุบันมีนักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. รวม 13 รุ่น มากกว่า 2,000 ราย ที่ได้รับโอกาสในการศึกษาอย่างต่อเนื่องในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ส่วนใหญ่เรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ อาทิ สาขาแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิศวกรรมศาสตร์ และครู เป็นต้น ทั้งยังได้รับการเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้รอบด้าน ให้มีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต มีทัศนคติที่ดีงาม มีจิตอาสาทำประโยชน์ เพื่อส่วนรวม ปัจจุบัน มีนักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีไปแล้ว รวม 6 รุ่น จำนวนเกือบ 700 ราย ซึ่งร้อยละ 70 ล้วนกลับไปทำงานที่บ้านเกิด

“ธรรมราชา ผู้ทรงค้ำจุนพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนในแผ่นดินไทย”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญรอยตาม สมเด็จบูรพมหากษัตริยาธิราช แห่งมหาจักรีราชวงศ์ ทุกพระองค์ ที่ทรงตั้งมั่นพระราชหฤทัยเกื้อหนุน เกื้อกูล เผยแผ่ และธำรงไว้ซึ่งการสืบทอดพระพุทธศาสนาของชาติ ให้ดำรงอย่างมั่นคงในผืนแผ่นดินไทย ผ่านพระราชกรณียกิจด้านการศาสนาที่พระองค์ทรงปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างเรื่อยมา อันเป็นที่ประจักษ์ชัดแก่สายตาชาวไทยทุกหมู่เหล่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธามั่นต่อพระบวรพระพุทธศาสนา ดังภาพที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ ด้านศาสนา อาทิ ทรงประกอบพิธียกฉัตรขึ้นประดิษฐานเหนือพระประธานพระวิหาร “พระเจ้าใหญ่อินทร์แปลง” ณ วัดมหาวนาราม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อให้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวจังหวัดอุบลราชธานี และถวายเป็นพุทธบูชาสืบไป เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดแพรคลุมป้าย “เจดีย์อัฐบริขารเขมาภิรโต” และทรงประกอบพิธีสมโภช “พิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ขาว อนาลโย” ณ  วัดถ้ำกลองเพล อำเภอเมืองหนองบัวลำภู จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นต้น เพื่อค้ำจุน เกื้อกูล พระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประกอบพระราชกรณียกิจด้านการศาสนาอีกนานัปการ เพื่อส่งเสริมบำรุงให้พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น เช่น เสด็จพระราชดำเนินบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา เป็นต้น

น้ำพระราชหฤทัยแห่งพระราชา ชุบชีวิตยามวิกฤติสาธารณสุขไทย”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรอย่างใกล้ชิดเสมอมา โดยเฉพาะปัญหาด้านสุขภาพอนามัย ทรงตระหนักว่า การมีสุขภาพอนามัยที่สมบูรณ์จะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และสามารถทำประโยชน์ด้านอื่นๆ ต่อไปได้ พระองค์จึงได้พระราชทานความช่วยเหลือและแนวพระราชดำริการแก้ไขปัญหาด้านสาธารณสุข นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2563 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด พร้อมกับพระราชทานพระบรมราโชบายในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ

อีกทั้งทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชทานรถเก็บตัวอย่าง ชีวนิรภัย จำนวน 36 คัน รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ จำนวน 5 คัน รถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลจำนวน 2 คัน รวมทั้งรถต่อพ่วงชีวนิรภัย จำนวน 6 คัน เพื่อปฏิบัติงานเชิงรุกภาคสนามในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เป้าหมายอย่างต่อเนื่อง พระราชทานชุด PPE แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว ชุด PPE แบบชุดหมีกันน้ำชนิดใช้ครั้งเดียว และชุด PPE แบบเสื้อคลุมกันน้ำชนิดใช้ซ้ำได้ จำนวน 3 รุ่น รวม 700,000 ตัว และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 122 ล้านบาท ในการจัดหารถยนต์และอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าว เพื่อกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ

น้ำพระราชหฤทัยกว้างใหญ่ไผ่ศาลนี้ ยังแผ่ไปถึงผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ โดยทรงรับเป็นพระราชภารกิจสำคัญในการให้ความช่วยเหลือพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ให้ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีแม้จะเป็นผู้ต้องขังก็ตาม ทุกคนต้องสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึง ตามหลักมนุษยธรรมและสอดคล้องกับข้อกฎหมายเกี่ยวข้องกับงานราชทัณฑ์ ข้อกำหนดแมนเดลา และข้อกำหนดกรุงเทพฯ ที่เป็นข้อกำหนดของสหประชาชาติ จึงพระราชทานทรัพย์ จำนวน 345,000,000 บาท แก่เรือนจำ ทัณฑสถาน และโรงพยาบาลแม่ข่ายของเรือนจำ 44 แห่ง เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์  ผ่าน “โครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติศาสน์ กษัตริย์”

พระบารมีแห่งพระราชา พลิกผืนพสุธา สู่ธาราแห่งชีวิต”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมรับ “โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้ง” ของ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรจากภาวะวิกฤติภัยแล้ง จำนวน 15 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุก “ภูมิสังคม” ของประเทศไทย ในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ขอนแก่น กาฬสินธุ์ นครพนม ศรีสะเกษ ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และพัทลุง

เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จทุกพื้นที่ จะมีประชาชนได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 37,600 ครัวเรือน หรือ 143,000 คน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 557,000 ไร่ ปริมาณน้ำรวม 11.1 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ช่วยประหยัดรายจ่ายให้ประชาชนกว่า 500 ล้านบาทต่อปี จากการได้มีน้ำดื่มสะอาดบริการฟรี โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ โครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี

พื้นที่ซึ่งเคยได้รับการขนานนามว่า “อีสานภาคกลาง” เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ เป็นพื้นที่ราบเชิงเขา และเป็นพื้นที่เงาฝน ไม่มีระบบชลประทาน แต่มาวันนี้ชีวิตของชาวบ้านตำบลเลาขวัญ กลับมาชุ่มชื่นด้วยพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ภัยแล้ง ไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ ทำให้ทุกคนที่ได้ใช้ประโยชน์จากน้ำบาดาลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างยั่งยืนและเป็นสุข

ทรงห่วงใยพสกนิกรอย่างเท่าเทียม

ความเดือดร้อนใดของพสกนิกรอยู่ในสายพระเนตรพระกรรณ ของพระบาทสมเด็จพระเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับทราบถึงความตั้งใจและความทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันอธิปไตยอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยความเสียสละ ครั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ถึงความสูญเสียและเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เชิญสิ่งดอกไม้และสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต จะพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์

ภาพความเดือดร้อนแสนสาหัสของพสกนิกร เมื่อต้องประสบกับวาตภัยพัดพาบ้านเรือนสูญหาย หรือบ้านเรือนราษฎรที่มอดไหม้ไปกับกองเพลิง มิได้อยู่ไกลจากสายพระเนตรแม้แต่น้อย ทันทีที่ความทุกข์ร้อนของราษฎรทราบยังฝ่าละอองธุลีพระบาท ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมตรี เชิญถุงพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานไปมอบแก่ราษฎรผู้ที่กำลังประสบทุกข์ภัย พร้อมเชิญพระราชกระแสรับสั่งทรงห่วงใยไปกล่าว เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่ราษฎรในพระองค์

พระราชาผู้ทรงยึดถือความกตัญญูกตเวทีเป็นธรรมะประจำพระราชหฤทัย”

เมื่อถึงเทศกาลสำคัญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่สมเด็จพระบรมราชบุรพการี ตามหลักพระพุทธศาสนา หรือเทศกาลตรุษจีนของทุกปี ก็จะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย อันหมายถึงการถวายอาหารไหว้บรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน เนื่องในเทศกาลตรุษจีน ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจีน ซึ่งเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายราชสักการะแด่พระป้ายอันเป็นที่สถิตดวงพระวิญญาณของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช สำหรับ “พระป้าย” เป็นป้ายชื่อของบรรพบุรุษบุพการีที่ตั้งไว้ในพระราชพิธีสังเวยพระป้าย เพราะธรรมเนียมจีน มีความเคารพนับถือและความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษบุพการี

ครั้นถึงเทศกาลสงกรานต์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าราชสำนักผู้ใหญ่ เชิญเครื่องสรงน้ำสงกรานต์ไปพระราชทานพระอนุวงศ์ผู้ใหญ่ เป็นการแสดงพระราชกตัญญุตาธรรมตามโบราณราชประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่โบราณ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ผู้แทนพระองค์ เชิญเครื่องสรงน้ำสงกรานต์ไปพระราชทาน หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี, พลเรือเอก หม่อมเจ้าปุสาณ สวัสดิวัตน์ และหม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล

เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2565 ปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงเป็นมิ่งขวัญ และร่มเกล้าของปวงชนชาวไทยตราบชั่วกาลนาน.