KBU SPORT POLL โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต รายงานผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “มหกรรมกีฬาเยาวชนแห่งชาติกับมิติการพัฒนาและความคาดหวัง ศึกษากรณีพัทลุงเกมส์” ซึ่งการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มอบหมายให้จังหวัดพัทลุง เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ “พัทลุงเกมส์” ครั้งที่ 37 ระหว่างวันที่ 29 ก.ค.-10 ส.ค.65 โดยดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ค. ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นแฟนกีฬาและประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,407 คน (ชาย 916 คน, หญิง 491 คน)
ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้ ความสนใจที่จะติดตามการแข่งขัน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 39.66 สนใจ รองลงมา ร้อยละ 32.11 ยังไม่ตัดสินใจ และร้อยละ 28.23ไม่สนใจ, สื่อหรือช่องทางที่จะติดตามและชมการแข่งขัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 26.04 โซเชียลมีเดีย รองลงมาร้อยละ 23.81 วิทยุโทรทัศน์ ร้อยละ 18.05 สนามการแข่งขัน ร้อยละ 14.13 หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และอื่นๆ ร้อยละ 6.31
ความคาดหวังที่มีต่อการพัฒนาและยกระดับการจัดการแข่งขัน อันดับ 1 ร้อยละ 96.00 ยกระดับการจัดการแข่งขันสู่มาตรฐานสากล อันดับ 2 ร้อยละ 94.88 พัฒนาและต่อยอดนักกีฬาดาวรุ่งสู่ทีมชาติ อันดับ 3 ร้อยละ 91.04 ยกระดับมาตรฐานด้านความพร้อมของสถานที่สนามและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง อันดับ 4 ร้อยละ 87.02 ใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคุ้มค่า อันดับ 5 ร้อยละ 85.60 กำหนดหรือบูรณาการชนิดกีฬาให้สอดคล้องกับมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ
ความคาดหวังและประโยชน์จากการจัดการแข่งขัน อันดับ 1 ร้อยละ 89.05 สร้างแรงจูงใจในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชน อันดับ 2 ร้อยละ 86.06 สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่และชุมชน อันดับ 3 ร้อยละ 85.00 สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดเจ้าภาพ
ผศ.ดร.รัฐพงศ์ บุญญานุวัตร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ ม.เกษมบัณฑิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลการสำรวจดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเด็นหลักๆ ที่ประชากรกลุ่มตัวอย่างสะท้อนความคิดเห็นส่วนใหญ่ ต่างมีความต้องการและคาดหวังที่จะให้การจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ได้รับการพัฒนาและยกระดับไปสู่มาตรฐานสากล เหนืออื่นใด ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลักของการจัดการแข่งขันที่สำคัญคือการพัฒนาและต่อยอดนักกีฬาในระดับดาวรุ่งป้อนเข้าสู่ทีมชาติ ขณะที่ผลประโยชน์จากการจัดการแข่งขันจะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่และชุมชน ตลอดจนสร้างแรงจูงใจในการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชนตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม จากผลการสำรวจดังกล่าว หาก กกท. หรือจังหวัดต่างๆ ที่จะเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมกีฬาระดับชาติในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นรายการใดก็ตาม จะได้นำผลดังกล่าวไปเป็นฐานข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาและยกระดับวงการกีฬาไทยได้ในระดับหนึ่ง