ที่ห้องประชุม สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผวจ.ศรีสะเกษ มอบหมายให้ นายธงชัย เจริญพานิชย์กุล รอง ผวจ.ศรีสะเกษ เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัดศรีสะเกษ (กพร.ปจ.) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี นางทัศนี ขจัดมลทิน ผอ.สำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานศรีสะเกษ พร้อมด้วย คณะอนุกรรมการฯ ทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการท่องเที่ยว ด้านการศึกษา และด้านการเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุม โดยมีการปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19 อย่างเคร่งครัด ผลการดำเนินงานตามแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2563 ทบทวนบทบาท กพร.ปช.และกพร.ปจ. เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงในระดับนโยบาย และระดับพื้นที่

นายธงชัย กล่าวว่า บทบาท กพร.ปจ. ทำหน้าที่บูรณาการการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ใช้การประชุม กพร.ปจ. เป็นเวทีในการบูรณาการประสานแผนการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปรับปรุง และยกระดับรูปแบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนเป็นเวทีในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้มีประเด็นพิจารณาสำคัญ คือ ร่วมแสดงความคิดเห็นในยก (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานจัดทำแผนพัฒนากำลังคนจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2565-2570 จำนวน 4 อุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนากำลังคนภาคเกษตรกรรม 2. คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนากำลังคนภาคอุตสาหกรรม 3. คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนากำลังคนภาคการท่องเที่ยวและบริการ และ 4. คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนากำลังคนกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน

ทั้งนี้ การจัดทำแผนพัฒนากำลังคนแต่ละภาค เป็นการจัดทำแผนเชิงสมรรถนะ ในมิติทรัพยากรมนุษย์ และยึดโยงแผนพัฒนาจังหวัดศรีสะเกษ พ.ศ. 2565-2570 ซึ่งคณะอนุกรรมการ กพร.ปจ. ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายเป็นประโยชน์ในการประสานงาน บูรณาการแผนการดำเนินงานด้านการศึกษา การพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาวิชาชีพของทุกหน่วยงานในพื้นที่ (รวมภาคเอกชน) และข้อคิดเห็นเสนอแนะ เป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนพัฒนากำลังคนในแต่ละอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผู้ประกอบกิจการ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนต้องปิดกิจการลง ส่งผลให้กำลังแรงงานส่วนหนึ่งถูกเลิกจ้าง ว่างงาน กลับมาภูมิลำเนา จะต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อให้มีงานทำ มีอาชีพต่อไป.