โดยศึกซักฟอกครั้งนี้ ฝ่ายค้านปักหมุดจองกฐิน 11 รัฐมนตรี ประกอบด้วย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม, “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี, “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง, “เสี่ยเฮ้ง”สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, “เสี่ยหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม, จุรินทร ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์, นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย, จุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

งานนี้เรียกได้ว่าตั้งเป้าปลุกกระแสยิงยาวไปถึงศึกเลือกตั้งครั้งหน้า โดยปมร้อนที่ฝ่ายค้านจองกฐิน ส่วนใหญ่เป็นข้อกล่าวหา ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไร้ภูมิปัญญา ไร้องค์ความรู้ ไร้ความสามารถ ไร้ประสิทธิภาพ ไร้จิตสำนึกรับผิดชอบ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบในหน่วยงานที่กำกับดูแล เอื้อประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง

ส่วนข้อกล่าวหาที่มุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กตู่” โดยเฉพาะทั้งข้อกล่าวหาขาดภาวะความเป็นผู้นำที่จะเป็นหัวหน้ารัฐบาล เป็นผู้นำที่พิการทางความคิดยึดติดแต่อำนาจ ไม่เคารพหลักนิติรัฐนิติธรรม ไร้คุณธรรมจริยธรรม ทำให้การบริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ผิดพลาด บกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงทุกด้าน

ขณะที่วิปรัฐบาลเอง กลับออกมาโวว่า เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ จะเป็นเวทีแถลงผลงานในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ของรัฐบาลมากกว่า

แม้การอภิปรายในสภาจะเป็นเพียง “สงครามน้ำลาย” แต่ความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นคือเสียงโหวตในสภา ซึ่งงานนี้ นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ก็ออกมายอมรับว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จากกรณี “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ภายหลังจากนำทัพพรรคเศรษฐกิจไทย สู้ศึกเลือกตั้งซ่อม เขต 4 ลำปาง ก่อนที่จะแพ้ราบคาบ จนกลายเป็นประเด็นให้มีการมองว่า พรรคเศรษฐกิจไทยไม่มีความชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายค้าน หรือยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาล

แต่งานนี้เรียกได้ว่าในเสียก็ยังมีดี เพราะเป็นโอกาสให้ “ผู้กองธรรมนัส” ได้ทีหาเหตุตีชิ่งออกจากอ้อมอก “บิ๊กป้อม” โดยประกาศขอถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล และจะเข้าร่วมเป็นกลุ่มฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรในที่สุด ขณะที่บรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยในนาม กลุ่ม 16 แม้จะมีคิวเตรียมเข้าพบ “บิ๊กป้อม” ในวันที่ 17 ก.ค.นี้ แต่ก็ยังคง “เก็บทรง” สงวนท่าทีเรื่องการถอนตัวออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล โดยโยนโจทย์ว่า จะดูจากผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีก่อน แล้วค่อยมาวัดผลกัน 

ทั้งนี้สำหรับกลุ่มของ “ผู้กองธรรมนัส-พรรคเศรษฐกิจไทย” มีตัวเลข ส.ส.ในมือประมาณ 16 เสียง และยังไม่รวมกับพรรคเล็กที่ผูกโยงอยู่อีก 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคไทยรักธรรม 1 เสียง และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง รวมแล้วเป็น 5 เสียง

หากคำนวณตามสูตรคณิตศาสตร์แล้ว การโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายจะต้องได้คะแนนโหวต “ไว้วางใจ” ไม่ต่ำกว่ากึ่งหนึ่งของเสียงในสภา หรือ 239 เสียง โดยขณะนี้ ส.ส.ในสภา มีทั้งหมด 447 คน ประกอบด้วยฝั่งพรรคร่วมรัฐบาล 269 คน ฝ่ายค้าน 208 คน ทั้งนี้หากหักเสียงของกลุ่ม “ผู้กองธรรมนัส” และบรรดาพรรคเล็กที่ผูกโยงกันอยู่ ออกจากเสียงของพรรคร่วมรัฐบาล และมาเติมเสียงให้ฝ่ายค้าน จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลเหลือ 248 เสียง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านได้เสียงบวกเพิ่มรวมเป็น 229 เสียง

แม้ดูจากตัวเลข แต้มฝ่ายค้านยังน้อยกว่ารัฐบาลเกือบ 20 เสียง แต่ก็ถือว่าเข้าตำราเสียงปริ่มน้ำอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะต้องไม่ลืมว่า แต่ละฝ่ายอาจจะมีเสียงก๊อกสองจาก “งูเห่า” แต่ละฝ่ายบวกเพิ่มอีก โดยเฉพาะเจ้าพ่องูเห่าฝ่ายรัฐบาล “เสี่ยหนู” ที่ก่อนหน้านี้ได้โชว์บารมีให้เห็นกันแล้ว ในการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่มีเสียง ส.ส.พรรคเพื่อไทยถึง 7 ราย ที่โหวตสวนมติพรรค เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ส.ส. 3 ใน 7 ราย กลุ่ม ส.ส.ศรีสะเกษ ส่งสัญญาณชัดเจนว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะไปร่วมกับพรรคภูมิใจไทย นอกจากนั้นก็ยังไม่รวมกับบรรดา “งูเห่า” จากขั้วต่างๆ ที่อาจจะมีส่วนช่วยโหวตไว้วางใจรัฐมนตรีแต่ละคนอีกแรงหนึ่ง

อย่างไรก็ตามศึกซักฟอกครั้งนี้ ประเมินคร่าวๆ แม้รัฐบาลจะตกอยู่ในสภาวะเสียงปริ่มน้ำ แต่เสียงที่มีอยู่น่าจะช่วยให้เอาตัวรอดผ่านไปได้ แต่หากฝ่ายค้านทำการบ้านมาดี มีข้อมูลชัดเจนที่รัฐมนตรีดิ้นไม่หลุด…งานนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน

ทั้งนี้หากรัฐบาลสามารถเอาตัวรอดผ่านศึกซักฟอกไปได้ สถานีต่อไปก็ต้องเจอกับการเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองหลายพรรคเริ่มจัดทัพลงพื้นที่เปิดตัวผู้สมัครกันยกใหญ่ อย่างพรรคพลังประชารัฐ มีจัดโรดโชว์ ลงพื้นที่ 10 ภาค 10 จังหวัด ซึ่งมี “เสี่ยเฮ้ง” ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ ทำหน้าที่เป็นโต้โผใหญ่ โดยเริ่มคิกออฟประเดิมเวทีแรกที่ชลบุรี หวังปลุกกระแสเรตติ้งพรรค โดยไฮไลต์อยู่ที่ “บิ๊กป้อม” ที่ประกาศกวาด ส.ส. ยกจังหวัดในการเลือกตั้งครั้งหน้า

แต่เรื่องร้อนที่น่าสนใจไม่แพ้การเตรียมสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคการเมือง หนีไม่พ้นเรื่องกติกาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 ที่ยังคงเป็นประเด็นคุกรุ่นอยู่ โดยล่าสุด “เนติบริกร” วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็ได้ออกมาชี้ทางเลยว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะบอกว่า ทั้งสูตรหาร 100 และสูตรหาร 500 อาจจะไม่ถูกทั้งคู่ ทั้งนี้ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาเสียก่อน ซึ่งงานนี้ก็คงจะต้องรอดูกันต่อไป เพราะเชื่อว่าจะมีการนำประเด็นนี้ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญหลังจากนี้อย่างแน่นอน

แต่หากจนแล้วจนรอด การเลือกตั้งครั้งหน้าเกิดขึ้นภายใต้กติกาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สูตร หาร 500 ก็จะทำให้เกิดยุทธการ “แตกแบงก์พัน” ให้เห็นกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะแต่ละพรรคต่างหวังกินรวบคะแนนจากบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้งบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และบัตรเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งด้วยบริบทดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดบรรดาพรรคขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ “พรรค SME” ผุดขึ้นในแวดวงการเมืองกันเป็นดอกเห็ด และเมื่อมองข้ามไปถึงช่วงหลังการเลือกตั้ง ก็เป็นไปได้สูงที่จะทำให้เกิดบัตรเขย่ง เกิดอภินิหารทางกฎหมาย การคำนวณที่ซับซ้อน จนทำให้เกิดข้อครหาในการเลือกตั้งเกิดขึ้นอีกมากมาย

ล่าสุดใน “กลุ่มก๊วนบิ๊กตู่” ก็เตรียมที่จะขยับ “ปัดฝุ่น” พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ซบเซาลงไปหลัง “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี มีปัญหาเรื่องคลิปเสียงโควตาหวย จนดึงกระแสพรรคเงียบเหงาลงไปด้วย แต่ล่าสุดเริ่มกลับมามีความเคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยจะมีการเปิดตัวแกนนำพรรคการประชุมใหญ่วิสามัญพรรคในวันที่ 3 ส.ค.นี้ ซึ่งจะมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี มาเป็นหัวหน้าพรรค รวมทั้งเตรียมดึงก๊วน กปปส. เข้าร่วม ซึ่งจะถือเป็นการปรับทัพพรรครวมไทยสร้างชาติ เพื่อเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งต่อไป โดยมีการเชื่อมพรรคไทยภักดี เป็นพรรคพันธมิตรสู้ศึกเลือกตั้ง โดยมีการตั้งธงชู “บิ๊กตู่” รีเทิร์นตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง

แต่หากประเมินอาการของ “บิ๊กตู่” ในตอนนี้ เรียกได้ว่าจ่อเข้าห้อง ICU ก็ว่าได้ ด้วยการบริหารประเทศมาร่วม 8 ปี ซึ่งยาวนานเสียจนคนเบื่อหน่าย ขณะที่ผลงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถูกบดบังจากปัญหาต่างๆ ที่มะรุมมะตุ้มจากทุกทิศทาง ทั้งเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามโรคระบาด ตลอดจนวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ จนกลายเป็นโจทย์หิน สำหรับพรรค “กลุ่มก๊วนบิ๊กตู่” ว่าหากยังคิดที่จะชู “บิ๊กตู่” เป็นจุดขายในการเลือกตั้งครั้งหน้า อาจจะต้องโชว์พลังมากกว่านี้ ไม่อย่างนั้น โอกาสที่จะไปถึงเส้นชัยในสนามเลือกตั้งก็คงดูจะริบหรี่!.