นางสาวเตือนใจ วิชิต แห่ง”สวนถนอมวงค์” ตั้งอยู่หมู่ 17 ต.โกสัมพี อ.โกสัมพีนคร จ.กำแพงเพชร พานายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมด้วยเกษตรอำเภอโกสัมพี เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร ชมความสำเร็จดำเนินชีวิต ปลูกทุกอย่างที่กินกินทุกอย่างที่ปลูก มีความสุขจนถึงวันนี้ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีการจ้างเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อให้มีงานทำและมีรายได้และลดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกพื้นที่ ซึ่งมีการแปรรูปสินค้าจากวัตถุดิบในสวนได้แก่ กล้วยฉาบ มะม่วงกวน มะพร้าวแก้ว ขนุนทอด โดยนำส่งตลาดต่างจังหวัด ซึ่งมีการสั่งสินค้าเข้ามาจำนวนมาก และภายในศูนย์การเรียนรู้ยังเปิดให้หน่วยงาน หรือผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน และเนื่องด้วยพื้นที่ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.เครือข่าย) ศูนย์เรียนรู้การผลิตผลไม้ อยู่ติดกับคลองวังเจ้ามีน้ำไหลผ่านตลอดทั้งปี ทำให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้ที่เข้ามาเที่ยวอีกด้วย

นางสาวเตือนใจ วิชิต เล่าให้ฟังว่า ก่อนจะมาถึงจุดนี้ เริ่มก่อตั้งขึ้นปี 2553 โดยพื้นที่เดิมทีมีการปลูกมันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน สภาพผิวหน้าดินเสื่อมโทรม พอได้เข้ามาอยู่ความคิดแรกจะทำอย่างไรเพื่อที่จะหาทุน ก็เลยมาปลูกพืชล้มลุกอย่างเช่นพริก มะเขือ และพืชผักต่างๆ เพื่อที่จะส่งตลาดข้างเคียง แต่ต่อมาเกิดน้ำหลากผลผลิตเสียหาย ข้าวของเสียหายหมด ก็เลยเป็นจุดเปลี่ยนความคิดร่วมกับครอบครัว ทำตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เกิดจุดประกายขึ้นมาเป็นการปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง มีทั้งมะพร้าวน้ำหอมแล้วก็ตามมาด้วยมะม่วง ทุเรียน น้อยหน่า กระท้อน ส้มโอ ขนุน ผลต่างๆ ในเนื้อที่ 186 ไร่ รวมแล้ว 28 ชนิด ได้ขายตามฤดูกาลเป็นเงินกลับมาเพื่อที่จะเลี้ยงในสวน และเมื่อมีจำนวนมากเพิ่มมูลค่าโดยการแปรรูป พื้นที่ที่ว่างเอาข่า ตะไคร้มาลง เพื่อที่จะให้มีผลผลิตออกขายอีกช่องทางหนึ่ง รวมทั้งมีกิ่งพันธุ์จำหน่ายให้กับเกษตรกร

ด้านนายศักดิเดชน์ แก้ววิเศษ เกษตรจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ได้สนับสนุนให้กับเกษตรกรที่มีสวนผลไม้และมีสภาพภูมิประเทศสวยงาม โดยเฉพาะฝั่งทิศตะวันตกของจังหวัด จะมีสวนผลไม้ที่อยู่ข้างลำธาร จะมีสวนผลไม้ที่หลากหลาย โดยเฉพาะผลไม้ที่ถือว่าน่าจะเป็นผลไม้เศรษฐกิจ นอกจากเกษตรกรที่มีการปลูกข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ก็คือพวกทุเรียน อาโวคาโด้ น้อยหน่าพันธุ์เพชรปากช่อง กระท้อน ซึ่งตลาดยังมีการต้องการอยู่ จะส่งเสริมให้กับเกษตรกรที่มีสวนผลไม้ ในพื้นที่ที่มีความสวยงามมาทำเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรต่อไป.