เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่พรรคก้าวไกล นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงถึงเอกสารสัญญาให้งบประมาณสนับสนุน 600 ล้านบาท ระหว่างรัฐบาลไทยกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค. โฆษกรัฐบาลได้ชี้แจงว่า บริษัทสยามไบโอไซเอน จำกัด เป็นเพียงบริษัทที่รับจ้างผลิตวัคซีนให้กับบริษัทแอสตราเซเนกาประเทศไทยเท่านั้น และระบุว่า รัฐบาลไม่มีอำนาจไปบังคับให้มีการส่งมอบวัคซีนที่มีการผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ให้กับประชาชนคนไทยก่อน ในประเด็นนี้ตนคิดว่าประชาชนต้องตั้งข้อสังเกตและหาคำตอบร่วมกัน รวมถึงต้องกดดันให้รัฐบาลออกมาชี้แจงเรื่องนี้ให้มีความชัดเจนกว่านี้
“ในสัญญาจองวัคซีนล่วงหน้า 26 ล้านโด๊ส ถ้าหากไปดูในภาคผนวกหรือ appendix a ในส่วนของวัตถุประสงค์หรือ objective จะปรากฏชื่อของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในสัญญาฉบับนี้ชัดเจน โดยระบุอยู่ในส่วนที่เรียกว่าวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงในข้อที่ 1. ซึ่งระบุเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมในด้านขีดความสามารถ และกำลังการผลิตวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด นั่นหมายความว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นเงื่อนไขและข้อผูกพันหนึ่ง ที่อยู่ในสัญญาที่ทำระหว่างกระทรวงสาธารณสุขหรือรัฐบาลไทยกับบริษัทแอสตราเซเนกาประเทศไทย จำกัด” นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ขอยืนยันว่าสยามไบโอไซเอนซ์ไม่ได้เป็นอิสระ สัญญาระหว่างรัฐบาลไทยและแอสตราเซเนกาประเทศไทย และต้องย้อนกลับไปดูว่า เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 ตามหนังสือที่ นร.106/คนกง. ระบุว่า การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2563 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา การอุดหนุนเงินเพื่อเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในหนังสือฉบับดังกล่าวมีเนื้อความที่เป็นเงื่อนไขในการอุดหนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์อย่างชัดเจนว่า เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการจัดซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนที่ต้องการ และมีเงื่อนไขที่จะจำกัดการส่งออกได้ด้วย และเมื่อวันที่ 25 ส.ค. ได้มีมติ ครม. อุดหนุนวงเงินดังกล่าวนี้ เพื่ออุดหนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เมื่อมีการระบุไว้ในหนังสือเช่นนี้ ประชาชนจึงต้องร่วมกันตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลไทยจึงไม่สามารถจำกัดสิทธิการส่งออกและขอใช้สิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ จากแอสตราเซเนกาประเทศไทยได้ก่อน ตามเงื่อนไขที่ได้อุดหนุนเงิน 600 ล้านบาทที่เป็นเงินแผ่นดินและเป็นเงินภาษีประชาชน ในการพัฒนาการผลิตวัคซีนไวรัลเวกเตอร์ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และประชาชนควรตั้งคำถามว่า เงื่อนไขดังกล่าวนี้ คือเงื่อนไขในการจำกัดสิทธิการส่งออกและเงื่อนไขในการสั่งซื้อวัคซีนได้ตามที่ต้องการเป็นอันดับแรก หรือไม่มีข้อความนี้ระบุเอาไว้ในสัญญา ถ้าข้อสังเกตนี้เป็นจริงว่าไม่มีข้อความนี้ในเงื่อนไขสัญญา ก็ต้องตั้งคำถามต่อไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลอุดหนุนวงเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งมีการเบิกใช้จริง 596.23 ล้านบาท ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้อย่างไร แล้วสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ที่มีการลงนามในวันที่ 18 ธ.ค. 2563 ลงนามไปได้อย่างไร เพราะการอนุมัติเงินสนับสนุนอยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้และมติ ครม.ที่อนุมัติก็ทำภายใต้เงื่อนไขนี้
“วันนี้พรรคก้าวไกลจะเปิดสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 ให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เท่าที่ได้อ่านในสัญญา เนื้อความไม่มีเงื่อนไขใดที่ระบุว่าวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์และการส่งมอบต่อให้กับแอสตราเซเนกาประเทศไทย จะต้องส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยหรือกระทรวงสาธารณสุขก่อน หรือต้องส่งมอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งตามตัวเลขที่ได้รับสิทธิในการสั่งซื้อเป็นอันดับแรกก่อน สัญญารับทุนอุดหนุนไม่มีข้อความนี้ อาจจะอยู่ในข้อความสัญญาที่ถมดำหรืออยู่ในส่วนใดก็ได้ แต่รัฐบาลจะต้องมีหน้าที่ชี้แจงว่าข้อความนี้คือเงื่อนไขการจำกัดการส่งออกและเงื่อนไขในการสั่งซื้อเป็นอันดับแรกตามความต้องการหรือไม่ ถ้าไม่มี อนุมัติอุดหนุนเงิน 600 ล้านบาทให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้อย่างไร ภายใต้เงื่อนไขอะไร” นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์ กล่าวว่า วันนี้เรื่องวัคซีนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อชีวิตประชาชน โดยประชาชนให้ความสนใจว่าเหตุใดการฉีดวัคซีนจึงยังล่าช้า และประชาชนต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพ รวมถึงประชาชนก็มีสิทธิที่จะสงสัยว่า กำลังการผลิตของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีความสมบูรณ์อยู่หรือไม่ มีปัญหาหรือไม่ ซึ่งในสัญญารับทุนอุดหนุน ข้อ 8.6 ระบุไว้ชัดเจนว่า ผู้รับทุนยินยอมและอำนวยความสะดวกให้ผู้ให้ทุนหรือผู้ที่ให้ทุนมอบหมายเข้าไปในสถานที่ทำการของผู้รับทุน หรือสถานที่ดำเนินการโครงการได้ในเวลาอันควร เพื่อประโยชน์ในการติดตามและประเมินผลงานตามโครงการได้ ดังนั้น ภายใต้สัญญาอุดหนุน 600 ล้านบาท ท่ามกลางความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนของสยามไบโอโซเอนซ์ที่ส่งมอบได้ไม่ครบ 10 ล้านโด๊สต่อเดือนเช่นนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลใช้ ข้อ 8.6 ตามสัญญารับทุน โดยให้ตัวแทนของภาคประชาชน นั่นคือ คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร และสื่อมวลชน เข้าไปติดตามตรวจสอบการผลิตในสถานที่ทำการการผลิตของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งจะเป็นความโปร่งใสที่รัฐบาลจะทำให้ประชาชนมีความสบายใจขึ้นมาได้
นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ระหว่างที่รอวัคซีนคุณภาพสูงในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์จะมาถึง เปรียบเสมือนรอทัพหลวงมาถึง แต่ทัพหน้าคือประชาชนที่กำลังต่อสู้กับโรคระบาดจะต้องไม่แตกไปก่อน หมายความว่าขณะนี้ประชาชนที่ติดเชื้อจะต้องเข้าถึงยาต้านไวรัสได้อย่างรวดเร็วในช่วงเริ่มต้น ภายในระยะเวลา 4 วัน ตั้งแต่เริ่มมีอาการ โดยรัฐบาลจะต้องหามาตรการในการลดขั้นตอนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประชาชนในกลุ่มเสี่ยง อาทิ บุคคลอายุ 60 ปีขึ้นไป บุคคลที่มีน้ำหนักมาก และละโรคประจำตัว 7 โรคร้ายแรง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องทบทวนจากการที่เคยให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า จะให้ตรวจ ATK และพักดูระยะ 7 วัน ค่อยตรวจ ATK ซ้ำอีกครั้ง ถ้าพบว่าผลเป็นบวกจึงให้ยืนยันด้วยการ Swab หรือ RT- PCR ซึ่งถ้าล่าช้าแบบนั้นเกรงว่าไวรัสจะลงปอดและอยู่ในภาวะปอดอักเสบจนเสียชีวิตไปก่อนได้.