เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ จัดงานเสวนา เรื่อง “ฮานอย 2021 สู่ พนมเปญ 2023” ที่ห้องประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคฯ (บ้านอัมพวัน) โดยการเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อร่วมกันวิเคราะห์กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 12-23 พ.ค.65 ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ส่งเสริมให้นักกีฬาประสบความสำเร็จ และมีปัจจัยอะไรบ้าง ที่เป็นอุปสรรค ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในเดือน พ.ค.ปีหน้า รวมทั้งศึกซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ประเทศไทย จะเป็นเจ้าภาพในปี 2568

“บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กล่าวว่า ในซีเกมส์ ครั้งที่ 32 นั้น กกท. จะนำเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้อย่างเต็มที่ ครั้งที่ผ่านมาศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา เพิ่งปรับปรุงแล้วเสร็จ เวลาจึงกระชั้นชิด นักกีฬายังเข้ามาใช้งานได้ไม่เต็มที่ แต่ตอนนี้พร้อมให้บริการเต็มที่ ขอให้สมาคมกีฬา ประสานงานติดต่อนำนักกีฬาเข้ามาใช้ได้เลย ไม่ต้องกังวล เพราะทั้งสถานที่ อุปกรณ์วิทยาศาสตร์การกีฬา และบุคลากร มีเพียงพอแน่นอน

ดร.ก้องศักด กล่าวอีกว่า ซีเกมส์ 2023 ซึ่งเหลือเวลาประมาณ 10 เดือน ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าใน 40 ชนิดกีฬา ที่จะจัดชิงชัยนั้น เจ้าภาพ จะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ที่สำคัญมีกีฬาแปลกๆ หลายชนิด ที่เราเองก็ยังไม่เข้าใจกฎ กติการการแข่งขัน และการให้คะแนน มากนัก ซึ่งสมาคมกีฬาที่เกี่ยวข้องจะต้องไปศึกษากันให้ดี อย่างไรก็ตาม กกท. ที่อนุมัติให้มีการเก็บตัวฝึกซ้อมตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป ยังวางเป้าหมายไว้ที่การครองเจ้าเหรียญทอง ในกีฬาสากล และพยายามทำเหรียญทองเพิ่มมากขึ้นในกีฬาทั่วๆ ไป

ขณะที่ “บิ๊กอ๊อด” พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศสิประภา ประธานกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการโอลิมปิคฯ ตั้งข้อสังเกตว่า หากซีเกมส์แข่งขันในประเทศที่เป็นกลาง ไทยจะครองเจ้าเหรียญทองได้ทุกครั้ง ไล่ตั้งแต่บรูไน, ลาว, เมียนมา, และสิงคโปร์ ส่วนที่ กัมพูชา อยากให้รักษาสถิตินี้ไว้