เมื่อวันที่ 3 ส.ค. นายธนชน มุทาพร ประธานชมรมผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมร่วมกับผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาแห่งประเทศไทย สมาคมนักบริหารการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพครูไทย (ค.อ.ท.) และสมาพันธ์ผู้ประกอบวิชาชีพครูไทย (ส.อ.ท.) เพื่อจัดทำข้อเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. …ฉบับกระทรวงศึกษาธิการต่อคณะทำงานพิจารณากฎหมายลำดับรองที่สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. …ในประเด็นสำคัญ คือ ตำแหน่งศึกษานิเทศก์ควรแก้ไขนิยามใหม่ให้หมายถึงผู้บริหารสถานศึกษารวมอยู่ด้วย และควรเพิ่มตำแหน่งนักพัฒนาการศึกษา แทนตำแหน่งบุคลากร ๘ ค (๒) ในปัจจุบัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการควรมีศักดิ์ศรีและสถานะที่เท่าเทียมกัน

นายธนชน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ให้เพิ่มเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติเป็นกรรมการโดยตำแหน่งของ ก.ค.ศ. เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติโดยมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลด้วยเช่นกัน รวมถึงแก้ไขเรื่องอำนาจหน้าที่การบริหารงานบุคคลในเขตจังหวัดของทุกหน่วยงานการศึกษาในเขตจังหวัด ซึ่งควรปรับปรุงองค์ประกอบของอนุกรรมการตามให้มีเฉพาะผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และศึกษาธิการจังหวัด และให้ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเขต 1 หรือเขตเดียวเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ ขณะเดียวกันควรให้มี อ.ก.ค.ศ.สถานศึกษานิติบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายในร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ รวมถึงในกฎหมายลำดับที่กำลังจัดทำพบอำนาจหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาซ้ำซ้อนกับอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด โดยปกติอำนาจหน้าที่ข้อนี้จะเป็นอำนาจของผู้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเลขานุการองค์คณะบุคคล ซึ่งตามร่างนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของศึกษาธิการจังหวัด จึงไม่เข้าใจเจตนารมณ์ในการจัดทำกฎหมายนี้และต้องปรับแก้ไขทันที

“ที่ประชุมเห็นควรปรับแก้ให้ตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัด และรองผู้อำนวยการสำนักงานเอกชนจังหวัดมีวิทยฐานะสูงสุดถึงเชี่ยวชาญพิเศษเหมือนกับตำแหน่งอื่นๆ เพราะตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้บังคับบัญชารองจากหัวหน้าหน่วยงานการศึกษา แต่มีวิทยฐานะสูงสุดต่ำกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา และยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ดำรตำแหน่งในสายงานนี้มีการพัฒนาสมรรถนะการบริหารของตนเองให้ดียิ่งขึ้นย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย ส่วนการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาควรเป็นอำนาจของ อ.ก.ค.ศ. ส่วนราชการ อ.ก.ค.ศ.จังหวัด หรือ อ.ก.ค.ศ. สถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลโดยตรง โดยมี ก.ค.ศ.เป็นผู้กำหนดหลักสูตรวิธีกาสอบแข่งขันฯ” นายธนชน กล่าว

นายธนชน กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นการอุทธรณ์ในมาตรา 134 ของกฎหมายลำดับควรบัญญัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือกับผู้ยื่นอุทธรณ์ในการรวบรวมหลักฐานเพื่อยื่นอุทธรณ์ให้ทันตามระยะเวลาสามสิบวัน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและโอกาสของผู้อุทธรณ์จะได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะปัญหาที่ผ่านมาบางรายที่ยื่นอุทธรณ์ไม่ทันเวลาเกิดจากหน่วยงานของรัฐเป็นเหตุที่ไม่ยอมให้เอกสารหลักฐาน หรือให้หลักฐานเพื่อรวบรวมยื่นอุทธรณ์ในระยะเวลาที่กระชั้นชิดจนทำให้ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันเวลา ส่วนการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ควรกำหนดระเวลาให้แล้วเสร็จในเวลาที่เหมาะสม และถ้าพิจารณาอุทธรณ์ไม่แล้วแล้วเสร็จในเวลาดังกล่าว ให้ผลการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปตามผู้ยื่นอุทธรณ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับข้าราชการที่ถูกลงโทษทางวินัย ที่มีหลักฐานใหม่จนสามารถพิจารณาอุทธรณ์ให้เปลี่ยนการลงโทษที่เป็นคุณแก่ผู้ยื่นอุทธรณ์ เพราะที่ผ่านมามีหลายรายที่ผู้ยื่นอุทธรณ์ถูกสั่งลงโทษไล่ออก หรือปลดออก หรือให้ออก แต่ใช้เวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ยาวนานหลายปี บางครั้งผลการพิจารณาอุทธรณ์ฟังขึ้นส่งผลให้เปลี่ยนการลงโทษ จากไล่ออก ปลดออก เป็นวินัยไม่ร้ายแรง ซึ่งจะต้องสั่งให้ผู้นั้นกลับเข้ารับราชการ แต่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ผู้ยื่นอุทธรณ์ได้เกษียณอายุราชการไปแล้ว รวมถึงควรมีบทบัญญัติให้กับผู้ที่ถูกลงโทษที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการเยียวยาแก้ไขด้วย