เมื่อวันที่ 2 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ระบุว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงบจัดซื้ออาวุธปืนสำหรับปีหน้ากว่า 7,000 กระบอก รวมห้าปีของรัฐบาลประยุทธ์ซื้อไปแล้ว 80,303 กระบอก เตรียมปกป้อง หรือ เตรียมทำสงครามกับประชาชน? ในสัปดาห์ที่แล้ว หนึ่งในโครงการที่ผมได้อภิปรายเพื่อขอตัดงบใน กมธ. งบประมาณ คือการตั้งงบประมาณของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อจัดซื้ออาวุธสงคราม อย่างเช่น ปืนเล็กสั้น (Carbine) ปืนเล็กยาว (Rifle) ปืนกลมือ (Submachine gun) รวม 7,000 กระบอก ที่รวมถึงการซื้อดาบปลายปืนสำหรับปืนเล็กยาว 2,000 กระบอก ทั้งโครงการรวมเป็นเงิน 1 พันล้านบาท และเป็นงบประมาณ 800 ล้านบาทในปี 65
เมื่อผมย้อนกลับไปดูย้อนหลังก็พบว่าตั้งแต่ปี 2561-2563 สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการจัดซื้ออาวุธปืนสงครามไปแล้ว 73,303 กระบอก ผมต้องย้ำตรงนี้ด้วยว่างบประมาณจัดซื้ออาวุธปืนสงครามส่วนนี้ เป็นคนละส่วนกับงบจัดซื้อปืนสวัสดิการ, ยุทโธปกรณ์สำหรับตำรวจสายงานป้องกัน ปราบปราม และสืบสวน, ครุภัณฑ์อาวุธสำหรับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้, และครุภัณฑ์อาวุธของกองงาน 904 ซึ่งในแต่ละปี สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมีการตั้งซื้ออาวุธเหล่านี้แยกต่างหาก นอกจากรายการจัดซื้ออาวุธสงครามเหล่านี้แล้ว การจัดซื้ออุปกรณ์ควบคุมฝูงชน (หรือเครื่องมือปราบม็อบ) ก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่หลังปี 2561 ด้วย โดยตั้งแต่ปี 2561-2565 มีการตั้งงบประมาณเพื่อการนี้กว่า 2,070 ล้านบาท รายการที่น่าสนใจคือการจัดซื้อปืนช็อตไฟฟ้า (Taser gun) สำหรับ 1,493 สน. ในปีงบประมาณ 2563
สิ่งที่ผมกังวลต่อการจัดซื้ออาวุธเหล่านี้คืออะไร? ผมไม่คิดว่าการซื้อ อาวุธสงคราม ดาบปลายปืน และรถหุ้มเกราะ จะช่วยอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนได้ และผมไม่แน่ใจว่าการใช้อาวุธหนักขนาดนี้จะใช้ตรงกับวิสัยทัศน์ในการให้ความเป็นธรรมของพี่น้องประชาชน ปกป้องสิทธิ์พี่น้องประชาชนตามสิทธิ์ของประชาชนไทยอย่างไร เมื่อผมลองเปรียบเทียบกับประสบการณ์ของต่างประเทศ แม้แต่ในเมืองที่มีชื่อเสียงในทางไม่ดีว่าตำรวจละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนมากที่สุด อย่างเขตมารีโคปา มลรัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในรอบ 25 ปี ที่ผ่านมามีการจัดหาปืนเล็กยาว 712 กระบอก รถหุ้มเกราะ 64 คัน เท่านั้น เทียบไม่ได้เลยกับการจัดหาอาวุธปืน 80,303 กระบอก และรถหุ้มเกราะ 261 คัน ในช่วง 8 ปี ที่รัฐบาลประยุทธ์บริหารประเทศ
ผมคิดว่ากระแสการติดอาวุธให้ตำรวจกลายเป็นทหาร (militarization of police) เป็นอุปสรรคต่อการสร้างประชาธิปไตยและการปกป้องสิทธิ์ของประชาชน จริงอยู่ที่สังคมไทยมองว่าตำรวจเป็นเหล่าทัพที่ 4 การมีตำรวจที่ทำหน้าที่สู้รบ (อย่างเช่น ตชด.) หรือแม้แต่การที่คนจะเป็นตำรวจได้ต้องผ่านโรงเรียนฝึกทหาร ดูจะเป็นเรื่องปกติ แต่เราไม่ควรลืมว่า แท้จริงแล้วตำรวจคือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของพลเรือน ซึ่งถ้าเราต้องการสร้างประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ผมคิดว่าทิศทางที่เราควรเดิน คือการทำให้ตำรวจมีความเป็นพลเรือนเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องทำงานภายใต้การเคารพหลักสิทธิมนุษยชนของประชาชน เพราะอย่าลืมว่าหน้าที่หน้าที่ของตำรวจคือการรักษากฎหมายและปกป้องสิทธิประชาชน ไม่ใช่การทำสงครามกับประชาชน”
ขอบคุณ ภาพ – ข้อมูล เพจ “Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์”