เมื่อวันที่ 1 ส.ค. พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัดซีนกลางบางซื่อ ให้สัมภาษณ์พิเศษ ผ่านระบบ zoom เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตลงทะเบียนวัคซีนโควิด 19 ที่ศูนย์ฉีดวัดซีนกลางบางซื่อ ว่า ก่อนหน้านี้ก็มีการกระทำลักษณะนี้ แต่ไม่เป็นดิจิตอล โดยจะมีการสมัครเป็นเจ้าหน้าที่อาสาแล้วพาญาติเข้ามาฉีดวัคซีน แต่ตอนนี้มีการยกเลิกจิตอาสาที่สมัครมาเองแล้ว จะใช้จิตอาสจากกระทรวงต่างๆ และจิตอาสาจาก 4 ค่ายมือถือจ้างมา ทั้งนี้จุดที่เกิดเหตุทุจริตได้เบาะแสเกือบ 20 วัน แต่ยังไม่หลักฐานที่แน่ชัดและยังมีการแจ้งมาประปราย กระทั่งจับพิรุธได้วันที่ 28 ก.ค. จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง การเก็บข้อมูลประจำวัน รวมทั้งตรวจสอบจำนวนการนัดล่วงหน้า พบว่ามีการอัพโหลดข้อมูลนอกเหนือจากที่เจ้าหน้าที่อัพโหลดจำนวนมาก โดยเป็นการอัพโหลดในเวลาที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ซึ่งเริ่มพบตัวเลขผิดปกติในหลักสิบในช่วงวันที่ 20-27 ก.ค. และเพิ่มจำนวนนัดมากกว่าปกติในวันที่ 28-31 ก.ค. ประมาณ 2,000 คนต่อวัน ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการเปิดรับการบริการแบบ walk-in ดังนั้นเหมือนกับว่าคนที่ทำเป็นคนในที่รู้กระบวนการดั้งเดิมของศูนย์ฉีดวัดซีนกลางบางซื่อมาก่อนว่า ปกติจะอัพโหลข้อมูลล่วงหน้าประมาณ 4 ทุ่ม เขาก็เลยอัพโหลดข้อมูลหลัง 4 ทุ่ม
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวอีกว่า โดยหลังจากเจอตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.แล้ว และมีการแจ้งเบาะแสค่อนข้างหนักแน่นว่ามีการจ่ายเงินจริงๆ มีการซื้อขายเพื่อรับคิวการฉีดวัคซีน มีการทำเป็นขบวนการ เราจึงมีการวางแผนว่าในวันที่ 28 ก.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่มีการนัดล่วงหน้าผิดปกติกว่า 2,000 คน เราจะปล่อยคนที่มีการนัดล่วงหน้าแบบผิดปกติเข้ามา เมื่อตรวจเช็คแล้วว่าเริ่มมีการลงทะเบียนไปประมาณ 600 คน จากจำนวน 2000 กว่าคนนั้น ทางศูนย์ฯ จึงแจ้งยกเลิกคิวการนัดล่วงหน้าผิดปกติทั้งหมด และมีการชี้แจง สอบถามข้อมูล ขอความร่วมมือเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลของตัวการผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทุจริตในครั้งนี้ โดยสามารถรวบรวมได้มากกว่า 300 คนซึ่งได้ให้การเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินคดี โดยข้อมูลจากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า มีการทำเป็นขบวนการเพราะมีการบอกว่าต้องเข้าประตู 4 เท่านั้น รวมทั้งบอกว่าเวลาถูกถามต้องตอบอย่างไร โดยการซื้อคิวนัดดังกล่าว มีทั้งซื้อเอง ญาติหรือนายจ้างซื้อให้ และมีการจ่ายเงินทั้งแบบเงินสดและการโอนเงินในอัตรา 400-1200 บาทต่อคิว ซึ่งขณะนี้ทางศูนย์ฯ ได้รับข้อมูลรายชื่อและเลขที่บัญชีธนาคารที่ใช้รับโอนของกลุ่มมิจฉาชีพดังกล่าวแล้ว จึงได้ให้นิติกรกรมการแพทย์เป็นผู้แทนในการดำเนินการแจ้งความต่อตำรวจ สน.นพวงศ์ ในฐานะผู้เสียหายต่อไป
“สาเหตุไม่ใช่การแฮกระบบ ไม่ใช่การแฮกจากค่ายมือถือ แต่เราคาดว่าเป็นการใช้สิทธิเจ้าหน้าที่จิตอาสาไปในทางที่ไม่ชอบ เพราะศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อจะมีการอัพข้อมูลล่วงหน้าวันต่อวัน ซึ่งช่วงที่ไม่มีการฉีดแบบ walk-in จะมีเจ้าหน้าที่เพียง 10 คนที่อัพข้อมูลได้ แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนแบบ walk-in คนที่มารับบริการคือคนที่ไม่มีข้อมูลในระบบเลย ทำให้ต้องใส่ข้อมูลเข้าไปใหม่ เราต้องเปิดสิทธิให้จิตอาสา เกือบ 300 คน ที่ทำหน้าที่ลงทะเบียนข้อมูลคนที่ walk-in ฉีดวัคซีน จึงเป็นสาเหตุช่องโหว่หลักเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามมีข้อมูลที่พบความผิดปกติ 19 ล็อคอิน ที่โดยในจำนวนนี้มี 8 Users ที่มีการอัพโหลดข้อมูลไม่กี่ราย ขณะที่อีก 11 Users มีการอัพโหลดข้อมูลจำนวนมาก และในจำนวนนี้มีจะมี 4 Users ที่อัพข้อมูลจำนวนมากที่สุดประมาณ 400-500 รายต่อวัน อย่างไรก็ตามจากกรณีที่มีความเสียหายกับค่ายทรู เพราะทั้ง 19 Users เป็นจิตอาสาที่ค่ายทรูส่งมา แต่ไม่ใช่พนักงานของค่ายเพราะเป็นการจ้างเอาท์ซอสมา และยืนยันว่าไม่ใช่การแฮกจากทรู”ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัดซีนกลางบางซื่อ กล่าว
พญ.มิ่งขวัญ ยังกล่าวอีกว่าในขณะนี้ ทางกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางได้ดำเนินการสอบสวนเบื้องต้นกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตลอดจนจิตอาสาทั้ง 19 คนนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้ขอความร่วมมือกับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อสอบสวนหาหลักฐานเชิงลึกและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ไขป้องกันการเกิดทุจริตดังกล่าวในอนาคต ทางศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ได้ดำเนินการ 1.ได้ยกเลิกนัดล่วงหน้าที่ผิดปกติซึ่งตรวจพบระหว่างวันที่ 28-31 ก.ค. ทั้งหมด 2. ยกเลิก login-users เดิมทั้งหมดและให้สิทธิในการเพิ่มเติม/แก้ไขข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่IT ภายในของกรมการแพทย์และสถาบันโรคผิวหนังเท่านั้น 3. ปิดระบบทำการทั้งหมดในช่วงกลางคืนเพื่อป้องกันการ vpn เข้ามาทำการนอกเวลางาน และ4. ตรวจสอบข้อมูลความผิดปกติของการนัดล่วงหน้าและการนำเข้าข้อมูลอย่างต่อเนื่อง โดยในขณะนี้ได้ยกเลิกการนัดผิดปกติเพิ่มเติมถึงวันที่ 8 ส.ค. 2564 แล้ว อย่างไรก็ตามทางกรมการแพทย์และศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ขอขอบคุณจิตอาสาตลอดจนผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 4 แห่ง ที่ให้การช่วยเหลือมาโดยตลอด และพร้อมร่วมมือกันต่อไป โดยขอย้ำกับประชาชนว่าการฉีดวัคซีนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ไม่มีการเรียกรับเงินทุกกรณี และหากจะมีเบาะแสการทุจริตโปรดแจ้งให้ทางศูนย์ฯ ทราบเพื่อที่จะได้ดำเนินการจับกุมและแก้ไขต่อไป
เมื่อถามว่า รวมแล้วมีการซื้อคิวฉีดวัคซีนจำนวนเท่าไหร่และคิดเป็นมูลค่าเงินมากแค่ไหน พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 18-28 ก.ค. มีการอัพโหลข้อมูลผิดปกติวันละ 10-50 เคส โดยมีคนเล็ดรอดสามารถฉีดวัคซีนไปได้ประมาณ 700 ราย ส่วนวันที่ 28-31 ก.ค. มีประมาณ 7,000 ราย หากนับรวมไปจนถึงวันที่ 8 ส.ค. จะมีประมาณ 10,000 ราย ทั้งนี้มูลค่าการจ่ายเงินจากการสอบถามของเราพบว่ามีการจ่ายเงินประมาณ 400-1,200 บาท ซึ่งเฉลี่ยเคสละ 800 บาท หากคิดคร่าวๆ 7,000 คน คนละ 1,000 บาท ก็จะเป็นเงินประมาณ 7 ล้านบาท
เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า ทุกคนก็ต้องถือเป็นผู้ต้องสงสัยทั้งหมด ทั้ง 19 Users และเจ้าหน้าที่ ซึ่งตำรวจก็จะมีการสอบสวนทั้งหมด แต่เราก็มีความเชื่อมั่นใจตัวเจ้าหน้าที่เราระดับที่มาก เพราะเจ้าหน้าที่เป็นคนตรวจพบความผิดปกติดังกล่าว อย่างไรก็ตามขอให้เชื่อว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของจิตอาสามาด้วยใจ ไม่ใช่การแอ็กระบบโดยค่ายมือถือ และยืนยันจะพยายามแก้ปัญหาให้ได้มากที่สุด
พญ.มิ่งขวัญ ยังกล่าวถึงการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. เป็นต้นไปว่า หลักจากปรับฉีดวัคซีนแบบไม่ walk-in เรียกได้ว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่เหงามาก เพราะจะมีการนัดกระจายเวลาเฉลี่ยเท่าๆกันทุกชั่วโมง ทำให้คนมารอฉีดวัคซีนไม่แออัด มีที่นั่งเพียงพอ ซึ่งเมื่อนัดเฉลี่ยนเท่าๆกันทุกชั่วโมง รับวันละ 20,000 คน กำลังคิดว่าอาจจะมีการปรับลดเวลาของศูนย์จาก 18.00 น. เหลือ 16.00 น. ตามปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ได้พัก โดยวันนี้ยังเป็นการฉีดวัคซีนแอสต้ราเซนเนก้า สำหรับประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป รวมทั้งผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 7 กลุ่มเสี่ยง นอกจากนั้นยังรับฉีดวัคซีนแบบ walk-in สำหรับคนท้อง 12 สัปดาห์ขึ้นไป.