เมื่อวันที่ 1 ส.ค. นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) ร่วมกับ นางจุฬารัตน์ นิรัติศยกุล นักวิชาการอิสระด้านการเกษตรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกันเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง “ กู้วิกฤตศรัทธาได้ ถ้าปฏิรูประบบราชการ”กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,142 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 24 – 31 ก.ค.64 ที่ผ่านมา ผลปรากฏดังนี้ เมื่อถามถึง 3 อันดับเหตุปัจจัยวิกฤติศรัทธาด้านการเมืองและระบบราชการในพื้นที่แดงเข้มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลสำรวจพบว่า ลำดับที่ 1 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ร้อยละ 93.2 ลำดับที่ 2 ฝ่ายการเมืองมุ่งถอนทุนคืน ไม่ยอมทำงานช่วยเหลือประชาชนยามวิกฤต ร้อยละ 90.4ลำดับที่ 3 ฝ่ายปกครองและสาธารณสุขระดับพื้นที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ไม่ได้รับการสนับสนุนทรัพยากรที่เพียงพอในการควบคุมโรคและช่วยเหลือประชาชน ร้อยละ 89.1
เมื่อถามถึง 3 อันดับเหตุปัจจัยวิกฤตศรัทธาด้านสังคมและปัญหาปากท้องของประชาชน ในพื้นที่แดงเข้มกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ผลสำรวจพบว่า ลำดับที่ 1 ไม่มีการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นต่อความเป็นความตายของประชาชน เช่น ชุดตรวจโควิด ชุดยาสมุนไพรและยาปัจจุบัน ราคาอาหาร ปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ร้อยละ 93.3 ลำดับที่ 2 ถูกทอดทิ้ง ไม่มีระบบการช่วยเหลือที่ดีเพียงพอ จึงเกิดวิกฤตความเป็นความตายของประชาชนจำนวนมาก ร้อยละ 93.3 ลำดับที่ 3 เข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐ จากหน่วยงานราชการ ยาก เมื่อเข้าถึงได้ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ร้อยละ 89.7
เมื่อถามถึง 5 อันดับ การปฏิรูปบริหารจัดการระบบราชการแก้เหตุปัจจัยที่ล้มเหลวในการช่วยเหลือประชาชน ผลสำรวจพบว่า ลำดับที่ 1 หัวหน้าส่วนราชการต้องลงพื้นที่เข้าถึงความเดือดร้อนของประชาชน แก้ปัญหาให้ได้เห็นผลทันทีลดความเดือดร้อนของประชาชนได้ ร้อยละ 94.1 ลำดับที่ 2 ปฏิรูปให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทำงานใกล้ชิด เข้าถึงประชาชน แก้ปัญหาด้วยความรวดเร็วฉับไว มากกว่า กินเงินภาษีของประชาชนไปวัน ๆ ร้อยละ 92.73 ลำดับที่ 3 ให้ออกจากราชการหรือออกจากตำแหน่งที่ไม่สามารถช่วยประชาชนได้ ร้อยละ 91.54 ลำดับที่ 4 ต้องการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ใหม่ โดยเร็ว ร้อยละ 88.9 ลำดับที่ 5 ยังมีความหวังต่อรัฐบาลจะปฏิรูปราชการไม่เป็นรัฐราชการที่เชื่องช้าและคอร์รัปชัน ร้อยละ 83.3
เมื่อถามถึง ความเห็นต่อ มาตรการการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวที่ชุมชน (Community Isolation) ผลสำรวจพบว่า เห็นด้วย ร้อยละ 77.7 ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 22.3 เมื่อถามถึง ความพร้อมรับมาตรการการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และการกักตัวที่ชุมชน (Community Isolation) ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 77.3 ไม่พร้อม เพราะขาดความช่วยเหลือเตรียมการต่าง ๆ จากหน่วยงานรัฐและส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร (กทม.) สาธารณสุข พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นต้น ขณะที่ ร้อยละ 22.7 พร้อม.