เมื่อวันที่ 1 ส.ค. น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติผิดมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพอากาศ 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องการทางอากาศ ระยะที่ 7 ( N-SOC C2)  โครงการพัฒนาการป้องกันฐานที่ตั้งทางทหารของกองทัพอากาศ (GBAD) และโครงการจัดหาทดแทนวิทยุพื้นดิน-อากาศ มูลค่ารวมเกือบ 3 พันล้านบาท ว่า กมธ.ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องกองทัพอากาศมาชี้แจงแล้ว 2 ครั้ง และยังอยู่ระหว่างการเชิญผู้แทนกองทัพอากาศที่เกี่ยวข้องมาแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก เบื้องต้นผู้แทนจากกองทัพอากาศ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงขอบเขตความต้องการของโครงการ (SOPR) และขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะซื้อหรืองานที่จะจ้าง (TOR) ทั้ง 3 ท่าน ยอมรับว่ามีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของ SOPR และ TOR จริง และยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำไปตามสั่งการของผู้บัญชาการกองทัพอากาศ (ผบ.ทอ.) มิได้กระทำขึ้นโดยพลการ และการดำเนินการดังกล่าวก็ได้รับการยืนยันจากฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชาว่าสามารถกระทำได้ เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และสาระสำคัญแต่ประการใด

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศที่รับผิดชอบเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างยืนยันว่า ได้สอบถามไปยังกรมบัญชีกลางแล้วว่าสามารถเปลี่ยนแปลงรายละเอียดได้ แต่เมื่อกมธ.ขอดูหนังสือราชการที่กองทัพอากาศหารือไปยังกรมบัญชีกลาง เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารอากาศตอบแต่เพียงว่า ไม่ได้มีการทำหนังสือสอบถามไปเป็นทางการ เป็นแต่เพียงการยกหูโทรศัพท์ไปขอคำปรึกษาเท่านั้น ดังนั้น ประเด็นนี้จึงทำให้กมธ.ยังไม่สามารถเชื่อได้ว่า การดำเนินการเปลี่ยนแปลง SOPR และ TOR ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะยังไม่มีความเห็นของหน่วยงานรับผิดชอบอย่างเป็นทางการ อีกทั้งยังไม่มีหนังสือยืนยันจากสำนักงบประมาณ และคณะอนุกมธ.งบประมาณปี 64 (ครุภัณฑ์) ระบุว่า ทอ.สามารถเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของโครงการได้  ซึ่งกมธ. ต้องเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณ มาตอบข้อซักถามและแถลงข้อเท็จจริงในข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

เมื่อถามว่า ผู้แทนจากกองทัพอากาศชี้แจงว่า ผบ.ทอ. สั่งการให้มีการเปลี่ยนแปลง SOPR และ TOR ของ 3 โครงการดังกล่าว เป็นเพราะของเดิมที่ทำไว้ในสมัยอดีต ผบ.ทอ. เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ และอาจขัดต่อกฎหมาย จึงจำเป็นต้องแก้ไขนั้น น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวว่า เมื่อผู้แทนกองทัพอากาศชี้แจงมาเช่นนี้ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเท่ากับยอมรับว่ามีผู้ที่ดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย แต่จะเป็นของเดิมหรือของใหม่นั้น ก็คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยกมธ.ได้มีมติเชิญ พล.อ.อ.มานัต วงษ์วาทย์ อดีตผบ.ทอ. เข้าชี้แจงในประเด็นที่ถูกพาดพิงทั้งหมดต่อไป สิ่งที่ผู้แทนกองทัพอากาศชี้แจงว่า โครงการทั้ง 3 โครงการ ซึ่งระบุวัตถุประสงค์และสาระสำคัญของโครงการที่ผ่านรัฐสภาจนออกเป็นกฎหมายเรียบร้อยนั้นขัดต่อกฎหมายเสียเอง ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะไม่ได้เป็นการกล่าวหาเฉพาะกระบวนการภายในกองทัพอากาศ และข้าราชการระดับสูงกองทัพอากาศเท่านั้น แต่เป็นการกล่าวหาผู้ที่อยู่ในกระบวนการออกกฎหมายทั้งหมดว่า มีส่วนร่วมในการกระทำที่อาจขัดต่อกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงกลาโหม สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง คณะอนุกรรมาธิการงบประมาณปี 64 (ครุภัณฑ์) คณะกรรมาธิการงบประมาณปี 64 สภาผู้แทนราษฎร รัฐสภา รวมทั้งนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม และคณะรัฐมนตรีที่เป็นผู้เสนอกฎหมายด้วย

น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าวด้วยว่า สิ่งที่กองทัพอากาศชี้แจงเป็นเพียงการอ้างถึง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ เท่านั้น แต่กระบวนการออกกฎหมายยังมี พ.ร.บ.อีกหลายฉบับที่ใช้บังคับหน่วยงานต่างๆ ให้ต้องปฏิบัติตาม เช่น พ.ร.บ.เทคโนโลยีป้องกันประเทศ พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ และ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการแก้ไข SOPR และ TOR ในครั้งนี้ อาจเป็นการกระทำโดยพลการ เป็นการปฏิบัติที่เกินกว่าอำนาจ และอาจขัดกับพ.ร.บ.ฉบับอื่นๆ ที่ใช้บังคับหน่วยงานต่างๆให้ปฏิบัติตามก็เป็นไปได้เช่นกัน ยังไม่รวมถึง สิ่งที่ผู้แทนกองทัพอากาศชี้แจงยังไม่ส่งเสริมหรือสนับสนุนทิศทางทางการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศตามที่รัฐบาลเองเป็นผู้กำหนด

“คณะกรรมาธิการฯ จะรีบตรวจสอบและทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็วที่สุด เนื่องจากโครงการดังกล่าวต้องใช้งบประมาณหลายพันล้านในการจัดหา จึงต้องทำให้ถูกกฎหมายและเป็นประโยชน์กับกองทัพอากาศและประเทศชาติมากที่สุด” น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว.