สื่อท้องถิ่นจากอินเดียรายงานว่า ผู้พิพากษา เอ็ม. แอล. รากูนาท บรรยายให้สื่อมวลชนฟังในงานแถลงข่าว เกี่ยวกับคดีประหลาดที่เคยเกิดขึ้นที่ศาลในเมืองไมสูร์ รัฐกรณาฏกะ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ที่ผ่านมา

ผู้พิพากษารากูนาท เล่าว่าตอนนั้น เขาเป็นผู้พิพากษาประจำเขตบัลลารี และต้องรับพิจารณาคดีที่เขาตั้งชื่อให้ว่าเป็น ‘คดีบะหมี่แม็กกี้’ เขาไม่ได้ให้รายละเอียดเรื่องวัน เวลา หรือชื่อของโจทก์และจำเลย สำนักข่าวจึงไม่อาจตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ 

ในคดีดังกล่าว ชายหนุ่มที่เป็นสามีระบุว่า ภรรยาของเขาชอบซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ ‘แม็กกี้’ ซึ่งเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่หาซื้อได้ทั่วไปในอินเดียมาตุนไว้คราวละมาก ๆ แล้วนำมาปรุงเป็นอาหารให้เขารับประทานทุกมื้อ ทุกวัน ตลอดระยะเวลาที่พวกเขาใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน จนเขาทนไม่ไหว ต้องขอหย่าขาดจากผู้เป็นภรรยา

ในที่สุด ทั้งคู่ก็หย่าขาดจากกันโดยเป็นการยินยอมพร้อมใจทั้งสองฝ่าย ซึ่งตามกฎหมายการแต่งงานของอินเดีย เมื่อคู่สามีภรรยาต้องการหย่าขาดโดยการยินยอมพร้อมใจ ทั้งสองฝ่ายจะต้องแยกกันอยู่เป็นเวลา 1 ปี และตกลงกันว่าการแต่งงานที่ผ่านมาเป็นโมฆะ

จากกรณีศึกษาเมื่อปี 2561 โดยวารสารนานาชาติด้านการจัดการ เทคโนโลยีและสังคมศาสตร์ พบว่า อินเดียมีอัตราการหย่าร้างประมาณ 11% ขณะที่สหรัฐมีอัตราการหย่าร้างถึง 50%

แม้ว่าก่อนหน้านี้ อินเดียจะมีอัตราการหย่าร้างต่ำ แต่ผู้พิพากษารากูนาท ก็กล่าวว่า ปัจจุบันมีคู่แต่งงานชาวอินเดียที่ต้องการหย่าร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอัตราที่น่าตกใจ ถ้าไม่มีกฎหมายที่กำหนดให้คู่สามีภรรยาที่ต้องการหย่าร้างต้องแยกกันอยู่เป็นเวลา 1 ปี ก่อนที่จะขอให้การแต่งงานเป็นโมฆะได้ อัตราการหย่าร้างของอินเดียจะต้องพุ่งสูงยิ่งกว่านี้อย่างแน่นอน 

ผู้พิพากษารากูนาท ยังเสริมว่า การหย่าร้างจะเกิดขึ้นกับคู่แต่งงานที่เป็นชาวเมืองมากกว่าชาวชนบท เนื่องจากผู้หญิงที่อยู่ในเมืองใหญ่มีความเป็นอิสระ มีการศึกษาและพึ่งพาตัวเองได้มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการเงิน ในขณะที่ผู้หญิงในชนบทห่างไกล มีอิสระน้อยกว่าและต้องเผชิญกับความกดดันทางสังคมและครอบครัวให้จำยอมใช้ชีวิตกับสามีที่แต่งงานกันไปแล้ว  

แหล่งข่าว : insider.com

เครดิตภาพ : Getty Images