จากกรณีมีมีรานงานข่าวเรื่องยาแอนติบอดีแบบผสม หรือแอนติบอดีคอกเทล หรือยาภูมิคุ้มกันลบล้าง ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทางผู้ผลิต เข้าไปช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ลดการนอนรพ.และลดการเสียชีวิต อีกทั้งขณะนี้มีการขึ้นทะเบียนใช้ในประเทศไทย โดยเป็นการใช้ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 31 ก.ค.นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ รอง ผอ.สถาบันบำราศนราดูร กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันบำราศนราดูร ได้มีการนำมาทดลองใช้กับผู้ป่วยที่สถาบันฯ เพียงไม่กี่ขวดและเพิ่งมีการใช้เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา รอดูตลอด 24 ชั่วโมง จึงยังไม่ทราบผล ทั้งนี้ยังไม่ได้มีการนำมาใช้เป็นมาตรฐานของทางสถาบันแต่อย่างใด
ด้าน แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขณะนี้มียาแอนติบอดีแบบผสม หรือแอนติบอดีคอกเทล หรือยาภูมิคุ้มกันลบล้าง ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ทางผู้ผลิต เข้าไปช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 ลดการนอนรพ.และลดการเสียชีวิต โดยมีการขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว เป็นแอนติบอดี้ดังกล่าวเป็นชนิดฉีดใช้ 1,200 มิลลิกรัม ราคาต่อโดส 41,000 บาท หลักการการทำงานคล้ายวัคซีนคือฉีดแล้วทำให้มีภูมิคุ้มกันมาสู้แต่ตามนำแนะนำคือฉีดหลังมีการสัมผัสกับคนติดเชื้อฯ หรือติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการน้อย แต่ถ้าอาการหนักแล้วไม่มีรายงานว่าใช้ในคนไข้กลุ่มนี้แต่อย่างใด
แหล่งข่าวฯ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ในจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 กว่า 70-80% เป็นผู้ที่มีอาการไม่มาก ไม่ต้องกินยาอะไรเลยก็มี ในจำนวนคนที่ไม่มีอาการ ส่วนใหญ่คิดบนพื้นฐานที่แย่ที่สุดของเชื้อเดลตา ก็จะไม่เกิน 20% ที่อาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง และสีแดง ดังนั้น หากตั้งต้นว่าให้แอนติบอดีคอกเทลในกลุ่มนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นผู้ป่วยอาการสีเหลืองหรือสีแดง คำถามต่อมาคือแล้วจะเลือกให้กับใคร หากจะให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งในจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด 1.7 หมื่นคน สมมติหากเป็นคนสูงอายุ 1 พันคน จะต้องใช้งบฯ ประมาณ 1.2 พันล้านบาทต่อเดือน หากต้องให้กับผู้ป่วยโรคร่วมเพิ่มเติมก็จะต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้
และหากให้กับทุกคนที่ติดเชื้อ 1.7 หมื่นคน คิดเป็นประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อเดือน ในขณะที่ความเป็นจริง คนไข้กว่า 80% อาจจะไม่ต้องใช้ยาอะไรเลย หรือใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ หรือยาตัวอื่น ซึ่งหลักการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ตอนนี้มีการปรับมาให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ใน 1-2 วันเมื่อเริ่มมีอาการ ส่วนใหญ่อาการดีขึ้น หากไม่มีโรคร่วมหรืออายุมาก สภาพร่างกายไม่ดีตั้งแต่แรก ซึ่ง 1 คนใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รวม 50 เม็ด 1 เม็ดราคา 30 บาท ดังนั้น การรักษาผู้ป่วยโควิดด้วยยาฟาวิพิราเวียร์รวม 1,500 บาท อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องมีการติดตามเรื่องการพัฒนายาสำหรับการรักษาโรคโควิด 19 อย่างใกล้ชิด เพื่อหาโอกาสในการนำมารักษาผู้ป่วยอยู่แล้ว ทั้งนี้ได้รับรายงานด้วยว่าราคาที่มาขายให้ประเทศไทยโดสละ 41,000 บาท ส่วนขายที่ประเทศกัมพูชา 20,000 บาท เนื่องจากมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งนี้เคยมีการมองว่าจะให้เป็นทางเลือกในรพ.เอกชนหรือไม่
ขณะที่ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ขณะนี้ทราบเพียงว่ายาดังกล่าวจะมีการใช้ที่สถาบันบำราศนราดูรเป็นที่แรก ในกลุ่มผู้ติดโควิดแล้ว เพื่อย่นระยะเวลาอยู่โรงพยาบาล ส่วนตัวยังไม่ได้ดูในรายละเอียด ส่วนโรงพยาบาลเอกชนจะนำมาใช้ได้หรือไม่ นั้นจะต้องมีการบันทึกในคู่มือการรักษาที่ออกโดยกรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ก่อนว่าสามารถนำมาใช้ได้ หากบรรจุและเป็นทางเลือกก็สามารถใช้ได้ ส่วนเรามีสิทธิจะซื้อมาใช้ให้กับผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายหรือไม่ ก็มีสิทธิ หากบริษัทผู้ผลิตเขาขายให้ อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดอาจจะต้องรอวันทำการ.