เมื่อวันที่ 30 ก.ค. นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการผลไม้(Fruit Board) กล่าวถึงกรณีที่ส.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์  เสนอให้รัฐบาลเยียวยาชาวสวนมังคุดที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 นั้น คณะกรรมการ ฟรุ้ทบอร์ด พร้อมรับข้อเสนอไปพิจารณา ศึกษาและรวบรวมข้อมูล เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ ในครั้งต่อไปโดยเร็ว จากนั้นจะเสนอต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป ส่วนปัญหาระบบการขนส่งผลไม้แบบบริการส่งถึงที่ รวมทั้งระบบการค้าออนไลน์ เกือบเป็นอัมพาตโดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ตนได้ประสานทุกภาคส่วน ทั้ง บริษัท ไปรษณีย์ไทย และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้ขอความร่วมมือไปยังบริษัทเคอรรี่ต กลงที่จะเปิดบริการอีกครั้งเช่นกันทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ติดตามประสานงานกับรัฐมนตรีเกษตรฯ.อย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยต่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19

นายอลงกรณ์กล่าวว่า ฟรุ้ทบอร์ดได้คิกออฟโครงการ”เกษตรกรแฮปปี้”โดยรณรงค์ภายใต้กลยุทธ์เพิ่มการขายภายในประเทศทดแทนการส่งออกซึ่งเป็น 1 ใน 7 มาตรการใหม่ของฟรุ้ทบอร์ดตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา และขอความร่วมมือทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทย ช่วยกันสร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกรด้วยการซื้อผลไม้ไทย ช่วงนี้ต้องเร่งช่วยระบายมังคุดคละที่สดอร่อย พร้อมจำหน่ายสู่ผู้บริโภคภายในประเทศ ทั้งรูปแบบการขายออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งมีปริมาณมากและราคายังไม่น่าพอใจ แม้แนวโน้มราคาเริ่มปรับตัวดีขึ้น จึงได้ออกแคมเปญ “เกษตรกรแฮปปี้” โดยทันที ส่วนการแก้ไขปัญหาอื่นๆนายจุรินทร์ และดร.เฉลิมชัย ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ การขาดแคลนแรงงาน การขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าผลไม้(ล้ง)ทั้งค้าภายในและส่งออก ให้ลงมาซื้อมังคุดด้วยมาตรการที่ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องทำให้สถานการณ์เริ่มกระเตื้องขึ้น โดยล่าสุดนายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชรายงานว่ามีล้งเข้ามาซื้อขายมังคุดและผลไม้เพิ่มขึ้นจาก40กว่าล้งเป็น146ล้ง นอกจากนี้สมาคมผู้ส่งออกทุเรียนมังคุดแจ้งว่าสามารถจองตู้คอนเทนเนอร์ที่จะส่งออกผลไม้ทางเรือได้แล้วตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งจะทำให้ลดการขนส่งทางรถไปประเทศจีนที่แออัดติดขัดที่ด่านโหยวอี้กวนและด่านโมฮ่านมีผลทำให้ตู้คอนเทนเนอร์หมุนกลับมาภาคใต้ไม่ทัน เชื่อว่าตู้คอนเทนเนอร์จะทยอยกลับมาขนมังคุดได้มากขึ้น

ด้านนายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาหลัก ๆ ที่พบ มาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงมาตรการป้องกันและควบคุมเชื้อโรค ของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกมังคุดและผลไม้อื่น ๆ ของไทย ที่เกิดจากปัญหาการขนส่งล่าช้า การขาดแคลนตู้คอนเทรนเนอร์และตะกร้าใส่ผลไม้ รวมทั้งปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าพื้นที่ที่ทำได้ยาก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายได้เร็วขึ้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์มีแนวทางมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยกระจายมังคุดในประเทศช่วงที่การส่งออกมีปัญหา คือ

1. เชื่อมโยงและกระจายมังคุดออกนอกแหล่งผลิตโดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการแก่ศูนย์กระจายในจังหวัดแหล่งผลิตกิโลกรัมละ 3 บาท ซึ่งกรมการค้าภายในโอนเงินให้จังหวัดดำเนินการจำนวน 50,850,000 บาทตามที่ฟรุ้ทบอร์ดอนุมัติเพื่อกระจายมังคุดจำนวน 16,950 ตันออกนอกแหล่งผลิตอย่างเร่งด่วน 2. สนับสนุนค่าขนส่งสำหรับผลไม้ที่ส่งผ่านไปรษณีย์กรมการค้าภายในร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยสนับสนุนกล่องไปรษณีย์และสติกเกอร์ส่งฟรีผลไม้ทั่วประเทศส่งเสริมการขายผ่านออนไลน์แก่เกษตรกรรายย่อยจำนวน 20,000 กล่องกล่องละ 10 กิโลกรัมเพื่อช่วยกระจายผลเม้ 2000 ตันโดยได้จัดส่งกล่องพร้อมสติกเกอร์ให้จังหวัดต่างๆแล้ว 3. เชื่อมโยงผู้รับซื้อของกรมการค้าภายในให้ช่วยเร่งระบายมังคุดเกรดรองหรือตกเกรดออกจากแหล่งผลิตโดยเร่งด่วนกรณีเกิดปัญหาระบายมังคุดไม่ทันในบางพื้นที่