เมื่อวันที่ 29 ก.ค. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดิจิทัล) ครั้งที่ 3/2564 ผ่านการประชุมทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วม 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมวันเดียวกันนี้ ได้ให้ความเห็นชอบ และอนุมัติแผนการดำเนินงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ และประมาณการรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมถึงแผนปฏิบัติการระยะยาว และแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการนี้ ได้เห็นชอบกรอบนโยบายการให้ทุนสนับสนุนภายใต้การเปิดรับข้อเสนอโครงการและกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนดิจิทัล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1.เกษตรเชิงรุกด้วยนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Agriculture) เพื่อเพิ่มมูลค่าและต่อยอดภาคเกษตร 2. รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government & Infrastructure) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการออกแบบบริการภาครัฐ การบูรณาการและการทำงานร่วมกัน (Interoperability) 3. การศึกษากับคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล (Digital Manpower) ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาใช้วางแผนการจัดการศึกษาสนับสนุนการกำหนดนโยบายพัฒนาบุคลากรเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และ 4. เทคโนโลยีดิจิทัลในโลกอนาคต (Digital Technology) ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รองรับการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) 

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ประเด็นหารือสำคัญอื่น ๆ ที่ประชุมได้อนุมัติโครงการตามมาตรา 26(6) สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย ในส่วนของการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ภายในกรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ในคราวการประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2564 ตามที่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ

ด้าน น.ส.อัจฉรินทร์ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ คณะทำงานพิจารณากลั่นกรองโครงการ สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทย เพื่อการต่อยอดการใช้ประโยชน์ตามมาตรา 26(6) ยังได้นำเสนอโครงการเพื่อพิจารณา 6 โครงการ ที่ผ่านหลักเกณฑ์จากการเปิดรับข้อเสนอสำหรับโครงการนำร่อง Smart Campus ด้วยเทคโนโลยี5G ครอบคลุมทั้ง โครงการประยุกต์ใช้ 5G เพื่อการบริหารจัดการระบบชลประทาน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร และการต่อยอด 5G ด้านการส่งเสริมสถานีขนส่งอัจฉริยะ (Smart Station) เป็นต้น.