การกระทำของข่านก่อให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างมาก ในกรุงอิสลามาบัด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญต่างถกเถียงถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย และไตร่ตรองว่า ทั้งข่านและฝ่ายค้าน จะสามารถหาทางไปต่อได้หรือไม่

สำหรับประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ที่มีประชากรมากกว่า 220 ล้านคน ซึ่งอยู่ระหว่างประเทศอัฟกานิสถานทางทิศตะวันตก, ประเทศจีนทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และคู่แข่งด้านนิวเคลียร์อย่าง อินเดีย ทางทิศตะวันออก ปากีสถานจึงถือว่า มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างยิ่ง

นับตั้งแต่ขึ้นสู่อำนาจเมื่อปี 2561 วาทศิลป์ของข่านเริ่มไปในทางต่อต้านสหรัฐมากขึ้น และเขายังแสดงถึงความต้องการที่จะเข้าใกล้ชิดกับจีน และ รัสเซีย เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งรวมถึงการเยือนรัสเซีย เพื่อพบหารือกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน เพียงวันเดียว หลังทหารรัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารในยูเครน เมื่อวันที่ 24 ก.พ.ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกา และผู้เชี่ยวชาญนโยบายการต่างประเทศของเอเชีย กล่าวว่า กองทัพที่แข็งแกร่งของปากีสถานควบคุมนโยบายการต่างประเทศและการป้องกันประเทศได้โดยพื้นฐาน อย่างน้อยช่วยให้มีการจำกัดความไม่แน่นอนทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หากข่านมีอันต้องพ้นจากอำนาจผู้นำปากีสถาน ไม่ว่าด้วยวิธีใดและเมื่อไหร่ก็ตาม เรื่องนี้ จะส่งผลต่อหลายประเทศที่มีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับปากีสถาน โดยเฉพาะอัฟกานิสถาน ที่อยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน ตั้งแต่เดือน ส.ค.ปีที่แล้ว เมื่อกลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจ และกำลังเผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรม เนื่องจากการขาดทุนสำรอง และมาตรการโดดเดี่ยวของนานาชาติ จึงมีการถกเถียงกันมากขึ้นว่า กาตาร์ อาจคือหุ้นส่วนในต่างประเทศที่สำคัญที่สุดของกลุ่มตาลีบัน

นอกจากนี้ ยังมีจีน ซึ่งมีข้อผูกมัดทางเศรษฐกิจกับปากีสถาน คือ ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน (ซีเปค) อินเดีย ซึ่งทำสงครามครั้งใหญ่กับปากีสถานมาแล้ว 3 ครั้ง เกี่ยวกับข้อพิพาทในภูมิภาคแคชเมียร์ นับตั้งแต่ทั้งสองประเทศได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เมื่อปี 2490 และสหรัฐ

กระนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญเรื่องเอเชียใต้ในอเมริกา ให้ความเห็นไปในทางเดียวกัน เกี่ยวกับวิกฤติการเมืองของปากีสถานว่า ไม่น่าจะอยู่ในลำดับความสำคัญต่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งกำลังยึดติดกับเรื่องสงครามในยูเครน นอกเสียจากว่าจะนำไปสู่ความไม่สงบในวงกว้าง หรือความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับอินเดีย.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS