ก่อนหน้านี้ทีมข่าวเดลินิวส์ เคยติดการนำเสนอรายงานการทวงคืน ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และ ทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว มาจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา หลังถูกโจรกรรมออกจากประเทศไทย ไปนานกว่า 50 ปีเต็ม และต้องใช้เวลานานกว่า 5 ปีเต็ม ถึงจะติดตามนำกลับคืนมายังประเทศไทยช่วงกลางปี 2564 ที่ผ่านมา

ตอนนี้พบว่า ยังมีวัตถุโบราณอีกหลายส่วนถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ประเทศสหรัฐอเมริกา 7 แห่ง จำนวน 32 รายการ อาทิ โบราณวัตถุกลุ่มประติมากรรมสำริด จากประโคนชัย จ.บุรีรัมย์, ชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม จากปราสาทเขาปลายบัด จ.บุรีรัมย์ ฯลฯ ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาศึกษาทางกฎหมาย แม้ที่ผ่านมา ไทยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ เพื่อติดตามโบราณวัตถุในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทย แต่มีการตั้งข้อสังเกตถึงความล่าช้า การส่งเอกสารเพิ่มเติมไปยังฝ่ายกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เพราะหากยิ่งล่าช้าอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดีในระยะยาว

เจรจาฝ่ายสืบสวนฯ อเมริกา เร่งส่งโบราณวัตถุ

นายดิษพงศ์ เนตรล้อมวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กรมศิลปากร หนึ่งในทีมผู้ติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ กล่าวกับ ทีมข่าว Dailynews Exclusive ว่า การติดตามทวงคืนโบราณวัตถุ กลุ่มประติมากรรมสำริดประโคนชัย และ ปราสาทเขาปลายบัด จากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐอเมริกา ชุดนี้มีความยากลำบาก เนื่องจากเป็นโบราณวัตถุที่ไม่มีภาพถ่ายยืนยัน มีเพียงคำบอกเล่า และข้อมูลของผู้ที่ลักลอบนำออกนอกประเทศไทย เลยทำให้ต้องใช้เวลานานในการสืบสวน โดยวัตถุโบราณชุดนี้ถูกลักลอบออกนอกประเทศ ตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2500-2510 ช่วงที่มีการตั้งฐานทัพต่างชาติในประเทศไทย จากการไล่สืบค้นข้อมูลพบว่า โบราณวัตถุกลุ่มนี้มีการเชื่อมโยงกับ นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นักสะสมวัตถุโบราณชาวอังกฤษ ที่เข้ามาจนได้สัญชาติไทย มีร้านขายวัตถุโบราณอยู่ในยุโรป ซึ่งที่ผ่านมา ถูกกล่าวหาหลายคดีในสหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันนายดักลาส เสียชีวิตไปแล้ว

ผอ.กลุ่มวิจัย สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กล่าวต่อว่า กลุ่มประติมากรรมสำริด ที่ทำการทวงคืนจากพิพิธภัณฑ์ในสหรัฐรอบนี้ มี จำนวน 32 รายการ ได้แก่ โบราณวัตถุที่เป็นชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม 5 รายการ ประติมากรรมสำริดกลุ่มประโคนชัย (พระโพธิสัตว์และพระพุทธรูปสำริด) 18 รายการ และ โบราณวัตถุจากพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน อีก 9 รายการ เบื้องต้นพบว่าโบราณวัตถุกระจายอยู่ในพิพิธภัณฑ์ 7 แห่ง มีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท และยังมีโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ ที่กำลังเจรจาทางลับกับบางประเทศในยุโรป เพื่อติดต่อนำกลับคืนมาประเทศไทย

ทั้งนี้ ในการติดตามทวงคืนได้จัดทำข้อมูล และกรมศิลปากร ได้ทำหนังสือถึง ผู้อำนวยการสำนักงานสืบสวนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2561 ตอนนี้ทางสหรัฐอเมริกา อัยการได้เริ่มดำเนินการสวบสวนแล้ว อยู่ในขั้นตอนพิจารณาและขอข้อมูลเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ตอนนี้บางพิพิธภัณฑ์ได้ติดต่อมาเพื่อขอเจรจา ซึ่งคาดหวังว่า การสืบสวนน่าจะแล้วเสร็จ และส่งคืนโบราณวัตถุให้ไทยได้ภายในปีนี้

ประติมากรรมสำริดประโคนชัย

สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญในการติดตามโบราณวัตถุชุดนี้คือ นายดักลาส แลตช์ฟอร์ด นักสะสมวัตถุโบราณ ได้ร่วมมือกับ นางเอมมาร์ ชี บังเกอร์ นักวิชาการและภัณฑารักษ์ ที่เขียนบทความระบุข้อมูลที่มาของโบราณวัตถุ ซึ่งช่วงแรกมีการปล่อยข้อมูลลวงออกมา เพื่ออัพราคาของโบราณวัตถุ แต่ทางการไทยพยายามสืบสวนหาหลักฐานจนพบว่า โบราณวัตถุมีการลักลอบนำออกไปจาก ปราสาทปลายบัด จ.บุรีรัมย์ แม้นายดักลาส จะไม่มีการให้ข้อมูลที่แท้จริง แต่นางเอมมาร์ เริ่มระบุถึงข้อมูลที่แท้จริงมากขึ้น ก่อนที่นายดักลาส จะเสียชีวิต

สำหรับ กลุ่มประติมากรรมสำริด ชุดนี้ เป็น รูปพระโพธิสัตว์ ในศาสนามหายาน มีการหล่อสำริด โดยใช้เทคนิคขั้นสูง อยู่ใน ช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 มีลักษณะผสมผสานระหว่างจินตนาการของช่างกับความเหมือนจริง เชื่อกันว่า ความเจริญในการหล่อรูปเคารพสำริดในย่านนี้ มีก่อนจะแผ่ขยายไปยังอาณาจักรเขมร ที่มีประติมากรรมสำริดมากขึ้นหลังจากยุคนี้ ปัจจุบันมีขบวนการลักลอบค้าวัตถุโบราณบางกลุ่ม ที่พยายามจะทำของใหม่ให้เหมือนของเก่าโบราณมากขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นคดีความเกี่ยวกับการหลอกลวงต้มตุ๋นในหลายประเทศ ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ลักลอบค้าวัตถุโบราณของจริงออกไป ส่วนใหญ่จะวางแผนลักลอบนำโบราณวัตถุล้ำค่าปะปนไปกับสินค้าอื่นๆ ผ่านการขนส่งทางเรือ เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

อย่างไรก็ดี สถิติโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุของไทย ที่กรมศิลปากร ได้รับคืนมาจากต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2508-2563 จำนวน 23 ครั้ง 1,082 รายการ นอกจากนี้ยังได้รับมอบโบราณวัตถุ จากหน่วยงานภาครัฐ ปี 2557-2563 จำนวน 14 ครั้ง 331 รายการ และการบริจาคโบราณวัตถุของคนไทย ปี 2557-2562 จำนวน 36 ครั้ง 1,732 รายการ

ปราสาทปลายบัด” พุทธศตวรรษที่ 15-16

ปราสาทเขาปลายบัด ตั้งอยู่ที่ อ.ประโคนชัย และ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง โดยปราสาทปลายบัด สร้างขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-16 เพื่อเป็นเทวสถานในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ลัทธิไศวนิกาย และพุทธสถานนิกายมหายาน มีความโดดเด่นในเรื่องการสร้างระบบการจัดการน้ำเพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สำคัญ ด้วยการดัดแปลงปากปล่องภูเขาไฟเป็นสระน้ำ มีการสร้างคันบังคับน้ำเชื่อมต่อกับแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้ไหลลงสู่บารายของปราสาทเมืองต่ำ เพื่อหล่อเลี้ยงชุมชนบนพื้นที่ราบ และเป็นภูเขาลูกโดดเพียงลูกเดียวที่พบปราสาทขอมถึง 2 ปราสาท ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นในปราสาทที่ได้รับอิทธิพลจากอารยธรรมขอม

โดย ปราสาทปลายบัด 1 อยู่บนยอดเขาปลายบัด ในเขตบ้านโคกเมือง อ.ประโคนชัย ปัจจุบันพบเพียงปราสาทประธานและอาคารบริวารที่ตั้งอยู่ด้านหน้า 2 หลัง ส่วน ปราสาทปลายบัด 2 ตั้งอยู่บนสันเขา ห่างจากปราสาทปลายบัด 1 ไปทางทิศตะวันตกราว 1 กิโลเมตร อยู่ในเขตบ้านยายแย้ม ต.ยายแย้มพัฒนา อ.เฉลิมพระเกียรติ ประกอบด้วยปราสาทประธานก่อด้วยอิฐ มีประตูทางเข้าทางทิศตะวันออก ในขณะที่อีกสามด้านเป็นประตูหลอก และพบร่องรอยหลุมลักลอบขุดหาโบราณวัตถุจำนวนมาก

ทีมข่าว Dailynews Exclusive ก็จะเฝ้าติดตามการเจรจาระหว่างหน่วยภาครัฐของไทยและสหรัฐอเมริกา ว่าจะสามารถนำโบราณวัตถุ กลุ่มประติมากรรมสำริด จากประโคนชัย และชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม จากปราสาทเขาปลายบัด และเป็นห่วงปัญหาที่ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อการนำวัตถุโบราณกลับคืนสู่ดินแดนประเทศไทย!!

ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงาน