อันนี้เรียกใบหนาด อันเดียวกับที่เอาไว้กันผีนั่นแหละ ช่วยลดอาการแน่นจมูก ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด ส่วนยาว ๆ ที่เห็นนั่นใบพลับพลึง ช่วยลดอาการบวมได้ค่ะเสียงใส ๆ บอกเล่าสรรพคุณ “พืชสมุนไพร” ดึงดูดความสนใจได้อย่างมาก เพราะภาพ “หมอพื้นบ้าน” ที่คุ้นเคยกันส่วนใหญ่มักเป็นชาย หรือหญิงสูงอายุ แต่เจ้าของเสียงนี้กลับเป็น “หญิงวัยสาว” ในชุดพื้นเมืองกะเหรี่ยงสีสันสดใส ที่นอกจากจะทำให้ประหลาดใจกันแล้ว เรื่องราวชีวิตเธอก็น่าสนใจ ชีวิต “หมอยาพื้นบ้านหญิง” แห่งบ้านแก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี คนนี้ วันนี้ “ทีมวิถีชีวิต” มีเรื่องราวมานำเสนอ…

“หนูชื่อเล่นว่า…เฉาก๊วยค่ะ เป็นหมอพื้นบ้านของที่นี่ เสียงใส ๆ ของ “ใกล้รุ่ง บุญเกิด” วัย 24 ปี บอกชื่อเล่นของเธอ พร้อมกับแนะนำตัว และหญิงสาวภายใต้ชุดพื้นเมืองกะเหรี่ยงคนนี้ยังได้เล่าเรื่องราวชีวิตให้ฟังต่อไปว่า เธอเป็น “หมอยาพื้นบ้านรุ่นใหม่” ของ บ้านแก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ซึ่งชุมชนนี้ตั้งอยู่ในเขตใต้สุดของภาคเหนือ และอยู่เหนือสุดของพื้นที่ภาคกลาง โดยชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มชาติพันธุ์กะหรี่ยง”

“วันนี้เราไม่ได้จะมาทำต้มยำกันนะคะ แต่จะเป็นการสาธิตการสุมยาเพื่อขับเสมหะ วิธีการก็คือเราจะเอาสมุนไพรหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ใส่ลงไปในหม้อดิน จากนั้นนำน้ำร้อนเทลงไป เพราะน้ำร้อนจะช่วยสกัดน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรออกมา แล้วเราจะเอาผ้าคลุมหัวไว้ แล้วค่อย ๆ สูดลมหายใจเข้าไปเพื่อรับกลิ่นของสมุนไพรเข้าไปในจมูก ซึ่งสรรพคุณของสูตรยาสูตรนี้จะช่วยทำให้หายใจได้โล่งขึ้นค่ะสาวชาวกะเหรี่ยง “หมอพื้นบ้านหญิงแห่งบ้านแก่นมะกรูด” แจงอีกถึงสรรพคุณสูตรยาสมุนไพร ขณะสาธิตวิธีใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้ที่คัดแน่นจมูกหายใจไม่สะดวก

และ “เฉาก๊วย-ใกล้รุ่ง” ก็เล่าถึงประวัติของตนเองให้ฟังว่า ก่อนหน้าที่เธอจะมาสืบทอดการเป็นหมอยาพื้นบ้าน เธอมีอาชีพค้าขาย แต่ด้วยความที่เธอเป็นลูกสะใภ้ของ “ลุงจุง” ที่เป็นปราชญ์พื้นบ้านชนเผ่าด้านสมุนไพร ทำให้นอกจากการเป็นแม่ค้าแล้ว เธอยังเป็นมือขวาของลุงจงอีกด้วย โดยเธอมีหน้าที่ช่วยจัดเตรียมสมุนไพรให้พ่อสามีในทุกครั้งที่ต้องปรุงยา ทำให้ซึมซับความรู้สมุนไพรมาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว และต่อมาเธอได้เกิดแรงบันดาลใจที่จะสืบสานวิถีการดูแลสุขภาพของคน “กะเหรี่ยงโผล่ว” ซึ่งเป็นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงอีกกลุ่มหนึ่ง หลังจากเธอถูกชวนให้ร่วม โครงการพัฒนาอาชีพชุมชนกะเหรี่ยงแก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี ภายใต้การสนับสนุนของ โครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กองทุนเพื่อความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา (กสศ.) จนเธอตัดสินใจ “เป็นแม่ค้าควบคู่กับเป็นหมอยาพื้นบ้าน” ด้วย

เธอเล่าย้อน เส้นทางชีวิต ก่อนจะมาเป็นหมอยาให้ฟังอีกว่า เธอเลี้ยงตัวเองด้วยการทำอาชีพค้าขาย โดยบางวันก็ทอดลูกชิ้นขาย หรือบางทีก็ขายก๋วยเตี๋ยว แต่เมื่อมีเวลาว่างก็จะไปช่วยพ่อสามี (ลุงจุง) เตรียมยาหรือตากยาเสมอ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดที่จะลงลึกอะไร คือช่วยหยิบจับไป แต่ไม่รู้ว่าอันนี้อันนั้นเอาไว้ทำอะไร หรือใช้ยังไง แต่ด้วยความที่คลุกคลีกับยาสมุนไพรนานเข้า ก็ทำให้ค่อย ๆ เริ่มอยากที่จะศึกษาว่าสมุนไพรที่เธอหยิบจับอยู่ทุกวันมีประโยชน์หรือใช้ทำอะไรได้บ้าง

“โชคดีที่ตอนที่หนูอยากจะศึกษาเรื่องนี้จริงจัง ทางป้าโก้-สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ จากสถาบันพัฒนาเยาวชนและชุมชนเพื่ออนาคต ซึ่งเป็นพี่เลี้ยงประจำภาคเหนือและตะวันตกของโครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. ได้มาชวนหนูไปเข้ากลุ่มสมุนไพร ตอนแรกก็งง ทำไมต้องเข้า เพราะก็ทำอยู่ทุกวัน แต่พอได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้เรื่องการแปรรูปสมุนไพร ก็ทำให้รู้ว่าเราสามารถเพิ่มมูลค่าให้สมุนไพรได้นะ เพราะแทนที่จะชั่งกิโลขายอย่างเดียว ได้กิโลกรัมละแค่ 10-20 บาท แต่เมื่อเอามาแปรรูป เอามาปรุงยาสมุนไพร ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เฉาก๊วยเล่าถึงก้าวแรกที่ทำให้ได้มาเข้าร่วมโครงการฯ ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ก้าวสู่ “เส้นทางหมอยาพื้นบ้านหญิง”

นอกเหนือจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสมุนไพรแล้ว เบื้องลึกจริง ๆ ที่ทำให้เธออยากเรียนรู้และอยากที่จะก้าวสู่การเป็นหมอยาพื้นบ้านนั้น กลับเป็นเรื่องของแรงบันดาลใจที่เธออยากจะสืบสานวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโผล่วอันเป็นชาติกำเนิดของเธอ โดยเฉาก๊วย หมอยาพื้นบ้านหญิงวัย 24 ปี บอกอีกว่า จากความรู้สึก จากที่เธอเห็นว่า หมู่บ้านของเธออยู่ห่างไกล และไม่ค่อยมีคนผ่านไปมามากนัก ก็เลยทำให้เธอคิดว่า ถ้ามีสมุนไพร มีจุดดึงดูด ให้มีคนมากินมาเที่ยวชุมชนของเธอมากขึ้น ก็น่าจะทำให้ชุมชนเกิดรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังทำให้คนภายนอกได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชีวิตของคนกะเหรี่ยงโผล่วอีกด้วย เธอจึงตัดสินใจที่จะเป็นหมอยาพื้นบ้าน เรียนรู้เรื่องของตำรับยาสมุนไพรแบบจริงจัง

“หนูมองว่าเรื่องนี้มันนำไปต่อยอดอาชีพได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นหมอสมุนไพรอย่างเดียว ซึ่งเมื่อก่อนหนูไม่ค่อยได้สนใจพวกสมุนไพรเท่าไหร่ ขนาดใบบัวบกยังไม่รู้จักเลย เพราะเอาแต่ค้าขายอย่างเดียว พอมีโครงการเข้ามาชวนพ่อ (ลุงจุง) ทำให้เราในฐานะลูกสะใภ้ก็ต้องเข้าร่วมด้วย เพราะพ่อแก่แล้ว หลายอย่างแกก็จะตามไม่ทัน เราก็ต้องช่วย พอช่วยมาก ๆ เข้า เราก็เริ่มสงสัยเอง อยากรู้เอง ก็ถาม คุณพ่อก็ไม่ได้หวงวิชา บางทีคุณพ่อก็บอกว่า ว่านชนิดนี้มันชื่อนี้นะ สรรพคุณอย่างนี้นะ เราก็ค่อย ๆ ศึกษา ค่อย ๆ พัฒนาไป จนมีวันหนึ่งเอาสมุนไพรชื่อยานมสาวมาตาก เราก็เห็นว่าทำไมมันเป็น
ตุ่ม ๆ พ่อบอกนี่เรียกว่ายานมสาว หนูก็แปลกใจว่าทำไมมันเรียกแบบนี้ พ่อก็บอกว่าที่เรียกยานมสาวเพราะเวลาต้มดื่มจะทำให้ผู้หญิงมีหน้าอกกระชับ
เฉาก๊วยบอกเล่าเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี แม้เธอจะรู้จักสมุนไพรเกือบทุกชนิดที่มีอยู่ในสวนของพ่อ แต่เฉาก๊วยก็บอกว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่เธอต้องเรียนรู้และฝึกฝนอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องสรรพคุณและวิธีการใช้ ซึ่งจะต้องแม่น เพื่อที่จะอธิบายให้คนอื่นรู้เรื่องและเข้าใจได้ โดยวิธีที่ดีที่สุดสำหรับเธอ และคนที่ต้องการจะเรียนรู้เรื่องของสมุนไพรให้ลึกซึ้ง นั่นก็คือ การลงไปทดลองด้วยตัวเอง    

“อย่างวันนี้ เราจะทดลองการใช้สมุนไพรที่เรียกว่าการย่างยา ที่ประกอบไปด้วยสมุนไพรมากกว่า 20 ชนิด ซึ่งหลัก ๆ คือใบพลับพลึง ที่เราเห็นผู้ใหญ่ใช้กับเด็ก ๆ เวลาเกิดอุบัติเหตุ แขนขาบวม เป็นฝี เป็นหนอง เขาก็จะเอาใบพลับพลึงนี้ไปผิงไฟ แล้วเอามาโปะ ๆ ให้มันยุบ เราก็ไม่คิดว่าถึงวันหนึ่งเราจะมาทำด้วยตัวเอง เฉาก๊วยกล่าว ระหว่างกำลังหยิบ “ใบพลับพลึง” ขึ้นมาเตรียมย่างบนเตาไฟ โดยเธออธิบาย “การย่างยา” ตามแบบฉบับของภูมิปัญญากะเหรี่ยงว่า วิธีนี้จะเป็นกรรมวิธีช่วยคลายเส้นด้วย ช่วยลดอาการปวดเมื่อย ซึ่งวิธีทำคือนำสมุนไพรไปวางเรียง ๆ กันบนแคร่ไม้ไผ่ โดยใต้แคร่จะเป็นเตาไฟให้ความร้อน เพราะความร้อนจะช่วยให้สารระเหยจากสมุนไพรซึมผ่านเข้าทางรูขุมขนที่ขยายตัว ทำให้เกิดการผ่อนคลาย หรือทำให้ผู้ที่เข้ารับการย่างยารู้สึกสบายตัว หรือเกิดอาการที่เรียกว่า “เนื้อตัวเบาหวิว”

ขณะที่อีกสูตรที่เธอสาธิตคื“สูตรพอกตา” โดยใช้สมุนไพรในกลุ่มที่เรียกว่า “ยาเย็น” ซึ่งเฉาก๊วย บอกว่า สูตรพอกตาเป็นความคิดของ ป้าโก้-สิริวรรณ ศรีเพ็ญจันทร์ เพราะมองว่าคนเราทุกวันนี้ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้มือถือกันตลอด จนสายตาแทบไม่ค่อยได้พัก ซึ่งการพอกตาจะช่วยทำให้คนที่พอกได้พักสายตาอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง “สูตรนี้หนูเคยทดลองด้วยตัวเองมาแล้ว บอกเลยว่า หลังจากทำแล้วรู้สึกสบายตามากค่ะหมอยาพื้นบ้านหญิงคนนี้ยืนยันสรรพคุณสูตรพอกตา

ทั้งนี้ เมื่อถูกถามถึง “อนาคตในเส้นทางการเป็นหมอยาพื้นบ้าน” ทาง เฉาก๊วย-ใกล้รุ่ง หมอยาพื้นบ้านหญิงวัย 24 ปี แห่งบ้านแก่นมะกรูด เธอบอกว่า ตอนนี้อีกสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปสำหรับเธอก็คือมุมมองที่มีต่อ “สมุนไพร” ตอนนี้เธอมองสมุนไพรเสมือน “สมบัติที่ล้ำค่า” ทำให้เธอพยายามปลูกสมุนไพรชนิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนสมุนไพรที่ขึ้นตามธรรมชาติเธอก็จะคอยดูแลสภาพแวดล้อมให้คงความอุดมสมบูรณ์ให้ได้มากที่สุด ซึ่งวันนี้เธอรู้แล้วว่า หากจะ “สืบสานวิถีหมอพื้นบ้าน ให้อยู่ต่อไปได้นาน ๆ เธอก็จะต้อง “รักษาคลังยาสมุนไพร” เอาไว้ให้อยู่ต่อไปนาน ๆ ด้วยเช่นกัน โดยเธอย้ำพร้อมรอยยิ้มว่า…

’ถึงจะเหนื่อย…แต่ก็คุ้มค่าค่ะ“.

ทุนชุมชน ‘ลดรอยต่อคน 2 รุ่น’

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์

ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ จาก มศว วิทยาเขตนครนายก หัวหน้าภาคและผู้ดูแลชุดโครงการภาคเหนือ-ตะวันตก ให้ข้อมูล “บ้านแก่นมะกรูด” ว่า ด้วยความที่ชุมชนนี้อยู่ใกล้เมือง ลูก ๆ หลาน ๆ ส่วนใหญ่จึงออกไปเรียนหนังสือ และทำงานในเมือง ทำให้วิถีและวัฒนธรรมอย่างภาษาพูด การแต่งกาย อาหารการกิน ค่อย ๆ หายไป บ้านแก่นมะกรูดจึง “เกิดรอยต่อของคน 2 รุ่น” คนรุ่นเก่าอยากให้รักษาวัฒนธรรมประเพณี แต่คนรุ่นใหม่ก็นึกภาพไม่ออกว่ารายได้จะมาจากการสืบสานได้อย่างไร ซึ่งภายใต้ภาพที่เลือนราง ผศ.ดร.สุวิชาน ได้เข้าไปพูดคุยชักชวนชาวบ้านทดลอง ค้นหาอาชีพที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ภายใต้ โครงการทุนพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน กสศ. ซึ่ง… “กรณีบ้านแก่นมะกรูด ภาพชัดที่สุดคือคนรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าจะใช้ต้นทุนที่ชุมชนมีอยู่มาทำมาหากินอย่างไร การทำให้คนสองรุ่นมาจับมือร่วมกันทำงานจึงเป็นเป้าหมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มี เฉาก๊วย คนรุ่นใหม่ที่ นำเรื่องสมุนไพรกับภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนมาใช้ประโยชน์เป็นทุนพัฒนาอาชีพและชุมชนได้ อีกทั้งยังอาจนำไปสู่การค้นหาอาชีพอื่น ๆ ของชุมชนต่อไปในอนาคต”.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : รายงาน