“ภาพร่างต้นแบบฉากเรื่องรามเกียรติ์” ภาพร่างฉากสามพบ โดยบานที่หนึ่งเล่าเรื่องพระราม พระลักษณ์ และนางสีดา ประทับในกุฎีกลางป่า นางสีดาเห็นกวางทองจึงทูลขอให้พระรามจับกวางเพื่อเอามาเลี้ยงให้คลายเหงา พระรามจึงออกตามกวาง พบพิรุธจึงแผลงศรใส่กวางทอง กวางจึงกลายเพศเป็นอสูรมารีศ ทศกัณฐ์จึงเข้าลักนางสีดาจากกุฎี ขึ้นราชรถเหาะหนี จนไปพบกับนกสดายุระหว่างทาง…เป็นผลงานทรงคุณค่าจัดแสดงใน นิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

“วิจิตราภรณ์ และประณีตศิลป์แห่งโขน” นิทรรศการนำเสนอคุณค่า “เครื่องโขน” ทั้งงานโบราณและงานร่วมสมัย โดยช่างฝีมือเครื่องโขนโบราณ และช่างฝีมือเครื่องโขนรุ่นใหม่ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับสถาบันไทยคดีศึกษา คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาเรียนรู้ศิลปะอันงดงามประณีตวิจิตร และทรงคุณค่า “โขน” ที่ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรองให้ “โขน” เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ อย่างเป็นทางการเมื่อ ปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา    

นิทรรศการฯแสดงผลงานทั้งงานโบราณและงานร่วมสมัย  จัดแสดงเครื่องโขนโบราณโดยในส่วนของศีรษะโขนที่เก่าแก่ที่สุดได้แก่ “ศีรษะกุมภกรรณ” หน้าทองแดงจากพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว จ.เชียงราย  “เศียรพระคเณศ” ผลงานของครูชิต แก้วดวงใหญ่ และศีรษะโขนในตำนาน “ศีรษะทศกัณฐ์หน้าทองเขี้ยวแก้ว” ที่เก็บรักษาไว้ที่สำนักการสังคีต กรมศิลปากร

นอกจากนี้มี “ศีรษะหนุมานหน้ามุก” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งเป็นของกรมมหรสพมาแต่เดิม เครื่องประดับโขนโบราณสมัยรัชกาลที่ 6 เครื่องโขนโบราณงานฝีมือชั้นครูอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี ฯลฯ ในนิทรรศการฯ ได้นำผลงานร่วมสมัย อาทิ งานออกแบบเครื่องโขนต้นแบบของอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2543 “เศียรฤาษีวาลมีกิ” ผลงานของนิรันดร์ ยังเขียวสด โดย ฤาษีวาลมีกิ นักประวัติศาสตร์ให้ความเห็นว่าเป็นผู้แต่งเรื่องรามายณะขึ้นเป็นคนแรก ฉากลับแลทศกัณฐ์ลงสวน ของอ.หทัย บุนนาค โดย ฉากลับแล เขียนภาพจิตรกรรมด้านหน้าเรื่องรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฐ์ลงสวน เข้าเกี้ยวนางสีดา ด้านหลังเขียนภาพพระรามตามกวาง สังหารมารีศ กรอบภาพประดับด้วยปีกแมลงทับ เป็นต้น

อีกทั้งมีงานชิ้นสำคัญ ผ้าห่มนางกรองทอง ของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูงานช่างโบราณด้วยวิธีถัก ปักและสอดปีกแมลงทับ นับเป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของยุคปัจจุบัน รวมถึงแสดงผลงานของครูและศิษย์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตรัตนโกสินทร์ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) รวมกว่าร้อยผลงาน พาสัมผัสเรียนรู้ สืบสานงานประณีตศิลป์อันงดงาม ทรงคุณค่า.