หลังจาก “เสี่ยตู่” ผู้มีประสบการณ์ในแวดวงการเลี้ยงหมูแบบครบวงจรในพื้นที่ จ.ราชบุรี นครปฐม ออกมาให้ข้อมูลกับทีมข่าว “Special Report” ไปแล้ว 2 ตอน เกี่ยวกับต้นตอของปัญหาราคาเนื้อหมูแพง เพราะโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) แถมยังมีเรื่องเกี่ยวกับการกักตุนหมูจำนวนมากไว้ในห้องเย็นเพื่อกำหนดทิศทางราคาหมูชำแหละของบรรดาผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำให้รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องตื่นขึ้นมาระดมตรวจสอบหมูในห้องเย็นทั่วประเทศ พบเนื้อหมูในห้องเย็นมากกว่า 15 ล้าน กก.

นอกจากนี้ “เสี่ยตู่” ยังแนะนำให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา หรือนำเข้าวัคซีนป้องกันโรค ASF เพื่อให้เกษตรกรรายเล็ก รายย่อย กลับมาเลี้ยงหมูได้โดยเร็ว และต้องพิจารณานำเข้าหมูจากต่างประเทศแบบจำกัดเวลา เข้ามาแก้ไขปัญหาหมูในประเทศขาดแคลนและมีราคาแพง เพราะถ้าหมูในห้องเย็นหมดเมื่อไหร่ จะสะท้อนราคาเนื้อหมูอย่างแท้จริงแน่ ๆ

ห้องเย็นเท! เนื้อหมูลดลงกก.60บาท

ล่าสุด “เสี่ยตู่” เปิดเผยกับทีมข่าว Special Report ว่าช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระแสข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบเนื้อหมูในห้องเย็นเป็นเรื่องร้อนแรงมากสำหรับคนวงการการเลี้ยงหมู ซึ่งจากความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศ ทำให้ราคาหมูเป็น ๆ ที่ขึ้นไปสูงสุดช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา กก.ละ 114 บาท (ราคาหมูเป็น ๆ คูณ 2 คือราคาเนื้อหมูชำแหละ) ค่อยปรับราคาลงมา กก.ละ 2-4 บาท

กระทั่งวันที่ 12 ก.พ.65 ราคาหมูเป็น ๆ หล่นลงมาอยู่ที่ กก. 90 บาท นั่นหมายถึงราคาหมูเป็น ๆ ลดลงมา กก.ละ 24 บาท ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูชำแหละลดลงมาถึง กก.ละ 48 บาท ต่อมาวันที่ 14 ก.พ.65 ราคาหมูเป็น ๆ ในโซน จ.ราชบุรี ลดลงมาเหลือ กก.ละ 84 บาท และโซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กก.ละ 82 บาท ถ้าคิดเป็นราคาหมูชำแหละ คือราคาลดลงมากว่า กก.ละ 60 บาท แล้ว

ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะคนที่เก็บหมูไว้ในห้องเย็นมาก ๆ เร่งระบายหมูออกมา ประกอบกับคนที่พอจะมีหมูเป็น ๆ เหลืออยู่ในฟาร์มบ้าง เคยหวังว่าราคาหมูเป็น ๆ จาก กก.ละ 114 บาท จะขยับขึ้นไปสูงกว่า กก.ละ 120 บาท ช่วงตรุษจีน แต่เมื่อราคาหมูเป็นเริ่มลง คนที่มีหมูในฟาร์มก็ตกใจกลัวว่าราคาจะไหลรูดลงไปมากกว่านี้ จึงปล่อยหมูออกจากฟาร์มมาแข่งกับหมูในห้องเย็น ราคาหมูจึงตกลงมาก

“เสี่ยตู่” กล่าวว่าไม่มีใครรู้ตัวเลขปริมาณเนื้อหมูในห้องเย็นทั่วประเทศว่ามีอยู่เท่าไหร่แน่! เพราะไม่มีใครบอกตัวเลขที่แน่ชัดกัน คนในสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เจอกันเกือบทุกวัน แต่ไม่มีใครเผยไต๋ออกมา ทุกคนอุบเงียบหมด

คาด“สงกรานต์”กลับมากินหมูแพงอีก!

แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าสิ้นเดือน มี.ค.นี้ หมูในห้องเย็นน่าจะหมดแล้ว คือเทกันออกมามากแบบนี้ มีกี่ล้าน กก.ก็ไม่เหลือ ดังนั้นช่วงสงกรานต์คนไทยคงได้บริโภคหมูในราคาแพงอีกครั้ง อันนี้คือแพงจริง ๆ ตามกลไกดีมานด์ ซัพพลาย แต่จะแพงขึ้นไปถึงแค่ไหนไม่มีใครรู้ เพราะบางทีถ้าหมูราคาแพงมากเกินไป คนอาจจะไม่ซื้อ หยุดการบริโภคเนื้อหมู แล้วหันไปบริโภคเนื้อสัตว์ชนิดอื่นแทน

“ในช่วงที่เนื้อหมูปรับราคาขึ้นไปแพง ๆ ช่วงต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีคนลักลอบนำเข้าหมูมาจากยุโรปบ้าง แต่เมื่อราคาหมูเป็น ๆ และหมูชำแหละในประเทศมีราคาถูกลง จึงต้องหยุดการลักลอบนำเข้า เนื่องจากเหลือกำไรน้อย แต่ต้องจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเท่าเดิม เมื่อกำไรเหลือน้อย หรือไม่มีกำไร แต่เสี่ยง! ช่วงนี้คนที่ลักลอบนำเข้าหมู จึงต้องหยุดไปโดยอัตโนมัติ”

ส่วนเรื่องของวัคซีนป้องกันโรค ASF เนื่องจากหมูประเทศไทยรับเชื้อโรค ASF มาจากจีน และเวียดนาม ดังนั้นอาจจะมีวัคซีนจากจีนและเวียดนาม เล็ดลอดเข้ามาทดลองใช้กัน แต่ได้ผลแค่ 25% เรียกว่าใช้แล้วยังไม่ได้ผลน่าจะดีกว่า แต่เชื้อโรคไม่ไปไหน ยังวนเวียนอยู่ในฟาร์ม เกษตรกรรายย่อย รายเล็ก จึงไม่กล้าเลี้ยงหมู เพราะยังไม่มีวัคซีน แถมลูกหมูหายากและมีราคาแพงมาก

รายใหญ่อยากวิจัยพัฒนาวัคซีนใช้เอง!

ส่วนผู้ประกอบการรายใหญ่ ทำอะไรกันอยู่? ถ้าให้เดาเขาอยากทำวิจัย พัฒนาวัคซีนในห้องแล็ปกันเองทั้งนั้น แต่ติดขัดเนื่องจากมีกฎหมายห้ามการครอบครองเชื้อโรค ใครครอบครองเชื้อโรค เก็บเชื้อโรคไว้ในห้องแล็บถือว่ามีความผิด เพราะภาครัฐบอกแค่ว่า “พบเชื้อ ASF” รัฐบาลยังรักษาหน้าตาอยู่ จึงไม่ประกาศว่า “มีการระบาดของเชื้อ ASF” เนื่องจากเกรงผลกระทบการส่งออกสินค้าแปรรูปจากหมู

ดังนั้นใครที่อยากเลี้ยงหมูตอนนี้ต้องรอไปก่อน เนื่องจากไม่มีวัคซีน อาจจะเคยใช้วัคซีนจากจีน เวียดนาม แต่ไม่ได้ผล เสียเงินเปล่า ตอนนี้จึงยังไม่มีวัคซีน ASF ส่วนรายใหญ่คงครุ่นคิดกันอยู่ว่าเมื่อไหร่จะสามารถวิจัยพัฒนาวัคซีนเองได้ ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจคนวงการเลี้ยงหมู เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐไม่ออกมาขยับเรื่องวัคซีนให้พวกเรา โดยเฉพาะการสนับสนุนส่งเสริมให้มีการพัฒนาวิจัยวัคซีนในประเทศ

คนเลี้ยงหมูก็เหมือนเกษตรกรทั่วไป ถ้าเห็นยาหรือวัคซีนอะไรดี ๆ จะต้องทดลองกันทั้งนั้น ไม่ว่าวัคซีนแพงแค่ไหนก็ต้องซื้อ หรือฉีดไปแล้วเหมือนน้ำเปล่าก็ต้องทดลอง เพราะไม่อยากให้หมูตาย ดังนั้นจากสภาพที่เป็นอยู่ในขณะนี้ บรรดารายใหญ่จึงอยู่นิ่งไม่ได้ ถ้าไม่มีวัคซีนแล้วจะให้เขาหยุดเลี้ยงหรือ? มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว

วันนี้คนนอกวงการหมูอาจจะไม่ทราบว่า มีกฎหมายมาตรา 29 ของ พ.ร.บ.เชื้อโรคจากพืชและสัตว์ พ.ศ. 2558 ค้ำคอพวกเราอยู่ โดยมาตรา 29 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นําเข้า ส่งออก ขาย นําผ่าน หรือมีไว้ในครอบครองเชื้อโรค กลุ่มที่ 4 ตามมาตรา 18 (4) หรือพิษจากสัตว์ กลุ่มที่ 3 ตามมาตรา 19 (3) เว้นแต่เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อการควบคุมโรค การป้องกันโรค และการบําบัดโรค ตามประกาศที่ออกตามมาตรา 6 (10)

“แม้มาตรา 29 จะระบุว่าเว้นแต่เป็นการศึกษาวิจัย เพื่อการควบคุมโรค การป้องกันโรค และการบําบัดโรค ตามประกาศที่ออกตามมาตรา 6 (10) แต่ในทางปฏิบัติจริง ๆ ต้องผ่านหลายขั้นตอน ต้องผ่านรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข หรือคณะกรรมการเชื้อโรคจากพืชและสัตว์ เพราะถ้าสามารถวิจัยวัคซีนกันได้ง่าย ๆ ในประเทศไทย ป่านนี้คนเลี้ยงหมูคงมีวัคซีน ASF ทดลองใช้กันแล้ว ไหนจะมีปัจจัยสำคัญในเรื่องของผลประโยชน์เกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีนของคนบางกลุ่ม จะยินยอมให้มีการศึกษาวิจัยวัคซีนใช้กันเองง่าย ๆ หรือ เนื่องจากแต่ละปีมูลค่าของยาและวัคซีนหมู มีมูลค่ามากมาย ตราบใดที่การเลี้ยงหมู ในช่วงเวลา 4 เดือน-4 เดือนครึ่ง ต้องฉีดวัคซีนป้องกันสารพัดโรคให้หมูมากกว่า 10 เข็มต่อตัว” เสี่ยตู่ กล่าว