เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิด เหตุสภาล่ม 2 ครั้ง คือองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่ง (237 เสียง) เรื่องนี้ข่าวว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะใช้เป็นวิธี กดดันให้รัฐบาลเร่งยุบสภาไวๆ ก็ถ้าสภาล่มเรื่อยๆ จะทู่ซี้อยู่ไปให้อายคนทำไม หวังกันถึงว่าน่าจะต้องยุบสภาก่อนฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติตอนเดือน พ.ค. เพราะตัวแปรหนึ่งคือกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ย้ายไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย และยังกั๊กท่าที แม้บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บอก ร.อ.ธรรมนัสอยู่พรรครัฐบาลแน่นอน แต่อะไรจะทำให้ไว้ใจได้ว่าถ้าอภิปรายไม่ไว้วางใจ กลุ่มนี้จะไม่โหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ  

พรรคเพื่อไทย โดย นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ รองหัวหน้าพรรค เขาว่า การที่สภาล่มบ่อยๆ คือ สัญญาณว่ารัฐบาลไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาได้  คงทำนองว่า ทำให้รัฐบาลเองรู้สึก ไม่มั่นคง เวลากฎหมายสำคัญอย่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 เข้า หรือช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้น พอคุมเสียงไม่ได้ก็ควรยุบสภาไปซะรู้แล้วรู้รอด เลือกตั้งใหม่ แล้วค่อยเปิดดีลใหม่ทางการเมือง

จุลพันธ์ สภา -57B5-4990-8AD3-2FE520877B1D.jpeg

แต่ทาพรรคก้าวไกล ก็มีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับการทำให้องค์ประชุมสภาล่ม  เพราะมันเป็น การถ่วงกฎหมายหรือรายงานกรรมาธิการ (กมธ.) สำคัญบางฉบับ อย่างเมื่อวันที่ 4 ก.พ.สภาก็ล่มไปตั้งแต่ก่อนได้รับทราบรายงาน กมธ.เรื่องบำนาญผู้สูงอายุ ทำให้ นายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล เสียดายมาก และมองว่าเป็นการ เอาเรื่องความจำเป็นในชีวิตของประชาชนมาใช้เล่นการเมืองเกินไป ยังมี กฎหมายสำคัญหลายฉบับที่ถ้าเอาแต่เล่นเกมทำสภาล่มก็ถูกถ่วงให้ช้า .. ขณะที่นายจุลพันธ์ก็โต้ว่า กะอีแค่รายงาน กมธ.ไม่ใช่กฎหมาย ส่งไปรัฐบาลจะเอาตามหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะไม่เห็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ มีท่าทีอะไรกับรายงาน กมธ.

ทาง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ก็มีความเห็นว่า  การเล่นเกมสภาล่ม เพื่อหวังให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภานั้นเปรียบเหมือน การขี่ช้างจับตั๊กแตน เพราะที่ผ่านมา เกิดเหตุสภาล่มมาแล้วหลายครั้ง หรือแม้กระทั่งได้รับเสียงไว้วางใจน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่เคยสนใจท่าทีของสภาเลย ที่คะเนกันว่า สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาถ้าล่มบ่อยๆ นี่เห็นล่มไม่รู้กี่ครั้งก็ไม่เห็นจะยุบเสียที เกมที่เล่นกันอยู่ แทนที่จะทำลาย พล.อ.ประยุทธ์ กลับทำลายเครดิตสภา ทำลายความหวังประชาชน

เช่นนี้จะ ส่งผลเสียต่อการเมืองและความน่าเชื่อถือต่อประชาชนระยะยาว หาก ส.ส.ไม่แสดงตนเข้าประชุมปล่อยให้สภาล่มเช่นนี้ ถือเป็นการประกาศว่า ไม่ให้ความสำคัญกับกฎหมายที่กำลังจะเข้าสภา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ปากท้องและสิทธิประโยชน์ของประชาชน และควรทำงานให้คุ้มกับภาษีของประชาชน และในภาวะเสียงปริ่มแบบนี้ หากอยากสั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาล พรรคร่วมฝ่ายค้านควรเข้าสภาให้ครบ และโหวตลงมติผ่านร่างกฎหมายที่ฝ่ายค้านเสนอ และคว่ำร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลดีกว่า  

แล้วก็มีความเห็นจากฝ่ายอื่นๆ อย่าง นายวัฒนา เมืองสุข ประธานคณะทำงานด้านการเมืองและกฎหมาย พรรคไทยสร้างไทย โพสต์ทวิตเตอร์ว่า ในระบบรัฐสภา องค์ประชุมเป็นความรับผิดชอบร่วมกันเพราะประชาชนเป็นคนเลือกพวกคุณมาเป็นผู้แทน การประชุมจึงเป็นงานในหน้าที่ การเล่นเกมเพื่อล่มการประชุมคนที่เสียหายคือประชาชน เพราะงานในสภามีเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ต่อประชาชนด้วย ไม่ใช่แค่ของรัฐบาล ส่วนการนับองค์ประชุม หรือการวอล์กเอาต์ ฝ่ายค้านจะใช้เป็นเครื่องมือแสดงความไม่เห็นด้วยที่ฝ่ายรัฐบาลใช้เสียงข้างมากทำให้ประชาชนเสียหาย เช่น เลื่อนญัตติมากลบเรื่องที่ฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาล เป็นต้น แต่ไม่ใช่ต้องการป่วนเพื่อล่มการประชุมโดยไม่มีสาเหตุหรือล่มเพื่อประโยชน์ของตัว

“องค์ประชุมไม่ครบ รัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ยุบสภาหรือลาออก ดูที่การผ่านกฎหมายสำคัญ เช่น งบประมาณ ถ้านายกฯ ไม่ผ่านต้องยุบสภาหรือแพ้การลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง กลไกตรวจสอบถ่วงดุลเป็นแบบนั้น องค์ประชุมไม่ครบจึงไม่ได้แปลว่ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพแต่แปลว่า ส.ส.ขี้เกียจไม่มาประชุม อีกมาตรการที่น่าจะได้ผลคือให้จ่ายเงินเดือน ส.ส.ตามจำนวนวันที่เข้าประชุม ใครไม่มาลงชื่อเข้าประชุมก็ตัดเงินเดือนไปตามนั้น และถ้าขาดประชุมเกินกำหนด ก็ให้สิ้นสภาพการเป็น ส.ส.แบบนี้รับรององค์ประชุมครบแน่”

ด้าน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย มองเรื่องสภาล่มว่า น่าเสียดาย และ มองเป็นเกมของทั้ง 2 ฝั่ง โดยฝั่งรัฐบาลแย่งอำนาจกัน แย่งผลประโยชน์กัน ส่วนฝ่ายค้านอยากคว่ำรัฐบาล แต่ส่วนตัว อยากสนับสนุนระบบการเมืองให้เข้มแข็ง เพราะ ถ้าระบบการเมืองไม่เข้มแข็ง ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือเป็นที่น่าเบื่อหน่าย และจะเป็นการทำลายระบบตามมาด้วย ทั้งนี้ วันนี้เกมการเมืองอาจจะสำคัญสำหรับนักการเมือง แต่อย่าลืมปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนที่รอการแก้ไขจากสภา  จึงอยากให้ ส.ส.ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ เกมการเมืองควรทำแต่พองาม อย่าให้ถึงกับไม่สามารถผ่านเรื่องสำคัญให้กับประชาชนได้ อย่าแย่งอำนาจกันจนจับประชาชนเป็นตัวประกัน 

ฝ่ายนักวิชาการ นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า “สภาล่มซ้ำซากทั้งปีไม่เคยทำให้รัฐบาลยุบสภา ขนาดพรรคความหวังใหม่ลาออกหมดสภา (มิ.ย.43) ก็ไม่ยุบสภา นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ยังลากต่อจนสภาครบวาระจึงยอมยุบ (พ.ย.43) เป็นถึงแกนนำพรรค แต่อ้างทำสภาล่มเพื่อยุบสภาล้มรัฐบาล นี่ไม่เข้าใจระบบสภาหรือมีอะไรอย่างอื่น? แล้วดันทำสภาล่มเฉพาะกฎหมายที่ประชาชนได้ประโยชน์ ทีกฎหมายอื่นที่มีข้อกังขา กลับไม่ทำสภาล่ม?  #สู้เป็นคือมายาเกี้ยเซี้ยคือของจริง”

ส่วนวิธีแก้ไขสภาล่ม นายสมชาย แสวงการ ส.ว. โพสต์เฟซบุ๊กว่า การแก้ไขให้ได้ผลไว้ 3 ประการ คือ

  1. กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้สิ้นสุดสมาชิกภาพเมื่อไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมเกินกว่าจำนวนที่กำหนด ไว้ในข้อบังคับ
  2. กำหนดไว้ในข้อบังคับ ให้สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภา เกินกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนครั้งที่แสดงตน เพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลา 90 วัน สิ้นสุดสมาชิกภาพตามรัฐธรรมนูญ
  3. กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น สมาชิกผู้ใดไม่มาประชุมเกินกึ่งหนึ่งของกําหนดนัดประชุมในแต่ละเดือน ไม่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มเป็นรายเดือนสําหรับเดือนนั้น ซึ่งได้ผลดี ทั้งการแสดงตนเป็นองค์ประชุมและลงมติครบถ้วน นี่คือเรื่องสำนึกหน้าที่และการช่วยกันหาทาง แก้ไขปัญหาสภาล่มให้บ้านเมืองไม่ให้เลยเถิดไปกว่านี้ …เพราะอย่างว่า คือ กฎหมายสำคัญบางตัวมันจะผ่านไม่ได้เอา

อาทิตย์นี้ไม่เขียนสรุปอะไร แต่อยากเอาความเห็นต่างๆ เรื่องสภาล่มมาให้อ่านกันดู ว่า ประชาชนควรจะดัดหลัง ส.ส.พวกนี้หรือไม่ อย่างไร.

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”