ปัญหาประกันโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” กำลังบานปลายครั้งใหญ่! หลังการแพร่ระบาดของไวรัสร้ายยังคงเกิดขึ้นทุกวัน แม้ว่าอัตราการติดเชื้อรายใหม่ยังไม่ทะลุหมื่นรายต่อวันเหมือนอดีตก็ตาม

ล่าสุด…ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิดแล้วกว่า 2.42 ล้านคน รักษาจนหายป่วยไปแล้วกว่า 2.31 ล้านคน โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 2.21 หมื่นคน หากนับเฉพาะเดือนม.ค.65 ก็พบว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปกว่า 2 แสนคน

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับในการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีที่สุดเป็นอันดับที่ 26 จาก 53  ประเทศและเขตเศรษฐกิจ หลังจากที่เคยอยู่อันดับที่ 51 เมื่อเดือนต.ค. 64 ที่ผ่านมา

แต่!! ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะไร้คนติดเชื้อไวรัสร้ายในเร็ววันนี้ซะเมื่อไหร่!!

ที่สำคัญ…ทุกคนต่างรู้ดีอยู่แล้วว่าพิษของไวรัสร้ายนี้ได้ทำร้ายระบบเศรษฐกิจทั้งโลกรวมทั้งประเทศไทยเป็นจำนวนไม่น้อย  ตราบใดที่การแพร่ระบาดยังคงเกิดขึ้น นั่นหมายความว่า “ความเสี่ยง” ก็ยังคงมีอยู่

ถ้าเพลี่ยงพล้ำเข้าให้อีก!! คนไทยก็จะยิ่งรับกรรมมากยิ่งขึ้นเช่นกัน ดูอย่างกรณีของระบบประกันภัยเจอ-จ่าย-จบ ที่ทุกวันนี้ได้ทำให้บริษัทประกันภัยอย่างน้อย 4 แห่งต้องมีอันต้องล้มเลิกกิจการ

แม้ว่าในปีแรกของการเกิดระบาด ทำให้บริษัทประกันสามารถกวาดยอดขายจากกรมธรรม์เจอจ่ายจบ…แบบถล่มทลาย เพราะการติดเชื้อยังไม่รุนแรง โดยข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือคปภ.ระบุว่า ยอดขายประกันโควิดปี 63 – ส.ค. 64 มียอดกรมธรรม์สะสมสูงถึง 39.86 ล้านฉบับ มีเบี้ยประกันภัยสะสมรวม 11,250 ล้านบาท

แต่ความหอมหวานของประกันโควิด เจอจ่ายจบ ก็มีอันต้องจบลง!! ใครจะไปเชื่อว่าตามปกติแล้ว ธุรกิจประกัน ที่ถือว่ามีความมั่นคงทางการเงินสูง  แต่เมื่อมาเจอพิษของโควิดเข้า ก็ต้องเผชิญกับภาวะ “ขาดทุน” จนอ่วมอรทัยเกือบทั้งอุตสาหกรรม

“กูรู”ด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ได้ให้ความเห็นไว้ว่า จุดบอดของประกันภัยโควิด คือ การผูกติดกับประสิทธิภาพการจัดการของรัฐบาล และเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยที่เท่ากันทุกช่วงอายุ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ในเรื่องของต้นทุนการเคลมประกันต้องดูที่อัตราการติดเชื้อกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ ที่ต่างมีความต่างกันในแต่ละช่วงอายุ

ในการออกแบบกรมธรรม์เจอ-จ่าย-จบ ขาดการคำนึงถึงเรื่องของการโอเวอร์ อินชัวร์ หรือมากกว่าประกัน ของลูกค้า เมื่อความรุนแรงของโควิดเพิ่มขึ้นจากการกลายพันธุ์ จึงส่งผลให้บริษัทประกันต้องขาดทุนกันเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกันในแง่ของผู้กำกับดูแลธุรกิจ และต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนที่ต้องได้รับการดูแล อย่างคปภ. ที่ต้องออกคำสั่งไม่ให้มีการยกเลิกประกันเจอจ่ายจบกลางคัน จึงทำให้ยอดเคลมประกันเพิ่มสูงขึ้น ล่าสุด ณ วันที่ 15 ม.ค. 65 มียอดขอเคลมประกันโควิด รวมกันแล้วกว่า 41,000 ล้านบาท

ด้วยเหตุนี้… จึงทำให้บริษัทประกันภัยหลายแห่งที่ขายเจอ-จ่าย-จบ ต้องยุติตัวเองไปเพราะแบกรับไม่ไหว อย่างรายล่าสุด!! แม้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีระดับ “เจ้าสัว” เป็นเจ้าของก็ตาม

แต่สุดท้าย…ก็ต้องขอเลิกกิจการในส่วนของธุรกิจประกันภัย ไปเช่นเดียวกัน โดยระบุว่าเป็นการใช้สิทธิขอเลิกโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตต่อนายทะเบียน ตามมาตรา 57 และ 57/1  แห่งพ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 รวมทั้งที่แก้ไขเพิ่มเติม และขอให้กองทุนประกันภัยเข้ามารับดำเนินการแทน 

แม้ตามกฎหมายแล้วบริษัทประกันฯจะสามารถเลิกกิจการโดยสมัครใจ และคปภ.ได้รับ “คำขอ” ไว้แล้ว แต่ก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาที่บริษัทประกันต้องปฎิบัติให้ครบถ้วน

ทั้งบริษัทที่จะเข้ามารับดูแลกรมธรรม์ ทั้งสิทธิตามกรมธรรม์ที่ต้องไม่น้อยกว่าเดิม ทั้งการบอกกล่าวเจ้าหนี้ การโอนหรือขอรับเงินสำรองตามกฎหมาย การแสดงแผนงานจัดการหนี้สิน ทรัพย์สิน  การจัดการหนี้สิน ทรัพย์สิน

ที่สำคัญ!!ในเรื่องของการให้กองทุนประกันวินาศภัย เข้ามาอำนวยการแทนนั้น คปภ.อ้างถึงกฎหมายตามมาตรา 79 ไว้ชัดเจนว่า “ไม่สามารถทำได้” ในกรณีที่บริษัทขอเลิกกิจการเอง

ในเมื่อต่างฝ่ายต่างหยิบยกประเด็นข้อกฎหมาย ขึ้นมาหักร้างซึ่งกันและกัน ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้ว กรณีการเลิกกิจการครั้งนี้จะมีผลต่อ “ผู้ถือกรมธรรม์” หรือเปล่า !!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”