หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 64 โดยตั้ง คณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 25 คน มีตัวแทนหลาย ๆ ภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงตัวแทนจาก กลุ่มสิทธิมนุษยชน เข้าไปมีส่วนร่วม ร่างกฎหมายที่ต่อสู้มานานหลายสิบปี

การเกาะติดร่าง พ.ร.บ.สำคัญฉบับนี้ ทีมข่าวเดลินิวส์ ได้พยายามติดตามมาอย่างต่อเนื่อง โดยเดือน ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา  คณะกมธ.วิสามัญฯ ได้พิจารณาร่างเสร็จสิ้นไป 34 มาตรา มีประเด็นที่สำคัญ 15 ข้อหลัก

อังคณา นีละไพจิตร (ซ้าย) พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ (ขวา)

แฉใช้ร่างฯเก่าของ สนช.ปี 59

ทีมข่าว 1/4 Special Report ได้สัมภาษณ์ นางอังคณา นีละไพจิตร รองประธาน กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฯ คนที่หก ให้ข้อมูลถึงกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ…. ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้การประชุมเดือนธ.ค. 64 เป็นการประชุมครั้งที่ 29 เป็นการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ในรายมาตรา เป็นที่น่าเสียดายที่ กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งเป็นผู้แทนคณะรัฐมนตรี ได้ขอสงวนร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขของกรรมาธิการฯ ทั้งฉบับ โดยยืนยันคงร่างเดิมของคณะรัฐมนตรี

ทั้งที่ผ่านมาในการพิจารณาของคณะ กมธ.ได้รับความฟังความเห็นจากทุกฝ่ายอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่สามารถคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการทรมานและการกระทำให้สูญหายโดยการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐได้จริง และสอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี ในชั้นการพิจารณาของ กมธ. มีการถกแถลงอย่างรอบด้าน และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และระมัดระวัง โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เพื่อประโยชน์ของความยุติธรรม และเพื่อให้กฎหมายมีประสิทธิผลในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ (state crime) โดยเฉพาะการกระทำให้บุคคลสูญหายซึ่งถือเป็น อาชญากรรมร้ายแรง และเป็น อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

นางอังคณา กล่าวต่อว่า การทำหน้าที่ กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จึงถือเป็นความท้าทายอย่างมากในการร่างกฎหมายป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการละเมิดที่เกิดจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือรัฐรู้เห็นเป็นใจ สำหรับผู้ที่ติดตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้คงทราบว่าร่าง พ.ร.บ. นี้ได้เคยเข้าสู่การ พิจารณาของ สนช. ตั้งแต่ปี 2559 จน สนช.หมดวาระ ทำให้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ต้องตกไป อย่างไรก็ดี ครม. ได้หยิบยกร่างที่ตกไปในชั้นการพิจารณาของ สนช. มาเป็นร่างของ ครม. ซึ่งถือเป็นร่างหลักในการพิจารณาในชั้น กมธ. ของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีหลายมาตราที่ร่างฉบับ ครม. ไม่สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้สูญหาย โดยมีประเด็นสำคัญ ๆ เช่น

ห่วงประเด็นสำคัญถูกตัดหายไป

1. ร่าง ครม. ขาดการบัญญัตินิยามให้การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นความผิดในทางอาญา ทั้งที่คณะกรรมการตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน ของสหประชาชาติ ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐภาคีในการอนุวัติกฎหมายภายในประเทศให้มีนิยามและกำหนดฐานความผิดเหล่านี้ไว้ในกฎหมายภายในประเทศของตน เพราะการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี เป็นแนวคิดและการกระทำที่กว้างกว่าการทรมาน  2. นิยาม “ผู้เสียหาย” ซึ่งเป็นตาม ป. วิอาญา ไม่ครอบคลุมถึง สามีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย รวมถึงคู่รักเพศเดียวกัน 3. ไม่ระบุว่าการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็น “อาชญากรรมต่อเนื่อง” เรื่องนี้คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ ได้ให้ความเห็นว่าการกระทำให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดต่อเนื่องนับแต่เมื่อเหยื่อถูกเจ้าหน้าที่รัฐนำตัวไปและเมื่อยังไม่เปิดเผยชะตากรรมก็ถือว่าการกระทำความผิดนั้นยังเกิดอยู่ กล่าวโดยสรุป การบังคับบุคคลให้สูญหายจึงเป็นอาชญากรรมต่อเนื่องที่ไม่มีอายุความ หรือหากจะมีอายุความได้แนะนำว่าควรกำหนดอายุความให้นานที่สุด ทั้งนี้จนกว่าสภาวะการสูญหายจะสิ้นสุดคือเมื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้สูญหายเท่านั้น

4. สิทธิที่จะทราบความจริงถือเป็นสิทธิอันสัมบูรณ์ของเหยื่อ ตามอนุสัญญาบังคับสูญหาย สหประชาชาติ ดังนั้น จึงต้องมีการสืบสวนสอบสวนจนกว่าจะทราบที่อยู่และชะตากรรมของเหยื่อ รวมไปถึงสืบสวนจนทราบรายละเอียดการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด 5. ไม่มีบทบัญญัติ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดจากการกระทำทรมาน โดยให้เป็นไปตาม ป. วิ อาญามาตรา 226/1  ในขณะที่อนุสัญญาฯสหประชาชาติทั้งสองฉบับห้ามรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาจากการทรมานโดยเด็ดขาด และ 6. การให้อำนาจเบ็ดเสร็จแก่กระทรวงยุติธรรม ทั้งการให้ รมว.ยุติธรรมรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้ ทำให้ ร่างพระราชบัญญัติของรัฐบาลขาดการตรวจสอบถ่วงดุลจากหน่วยงานอื่น

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งในประเด็นสำคัญ ที่ขาดหายไป หรือไม่ถูกให้ความสำคัญ ในร่าง พ.ร.บ.ฯ ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากร่างฉบับนี้ผ่านจะมีผลโดยตรงต่อประสิทธิผลในการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย รวมถึงชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ ในขณะที่ร่างฉบับกรรมาธิการฯ ได้เติมเต็มสาระสำคัญไว้ครบถ้วนทุกประเด็นโดยคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชนสากล การสร้างกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลในการสืบสวนสอบสวนคดีทรมานและบังคับสูญหาย รวมถึงการเข้าถึงการชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเหยื่อ โดยให้ความสำคัญกับการเยียวยาที่มากกว่าตัวเงิน คือ การเยียวยาด้วยความยุติธรรม และ สิทธิที่จะทราบความจริงซึ่งเป็นสิทธิอันสัมบูรณ์ของเหยื่อ

กมธ.เร่งปรับแก้ให้สอดคล้องสากล

ขณะที่ น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เปิดเผยว่า คณะกมธ.วิสามัญฯ ชุดนี้ได้ทำหน้าที่ในการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ด้วยความละเอียดในการพิจารณาแก้ไขร่างของรัฐบาลให้สอดคล้องต่อหลักการสากลที่ยังขาดอยู่ อย่างน้อย 5 ประการ เช่น 1. กำหนดให้การปฏิบัติอย่างไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นข้อห้ามในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ หรือไม่ควรมีโทษทางอาญาหรือไม่ 2. อำนาจสอบสวนคดีตามความผิดทางอาญากำหนดใหม่ในพ.ร.บ.ฉบับนี้    กรรมาธิการฯ เสนอให้การสืบสวนสอบสวนฝ่ายปกครองตำรวจ รวมทั้งร่างของรัฐบาลที่กำหนดให้ ดีเอสไอ เป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้

3. อายุความ ในร่างของรัฐบาลไม่ได้กำหนดอายุความเท่ากับว่าอายุความคดีทรมานอุ้มหายมีอายุความ 20 ปี ถ้าไม่สามารถค้นหาความจริงจนทราบชะตากรรมหรือซ่อนศพครบ 20 ปี ผู้กระทำความผิดก็จะลอยนวลโดยปล่อยให้สังคมหวาดกลัวและมีการอุ้มหายอีกเพราะระบบกฎหมายเก่าไม่สามารถเอาผิดได้ 4. ร่างของกมธ.วิสามัญตัดอำนาจศาลทหารในการพิจารณาคดีทรมานอุ้มหาย ให้คดีทรมานอุ้มหายพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมทุกกรณี และ 5. ประเด็นเรื่องการสรรหากรรมการและอำนาจหน้าที่ที่กว้างขวางครอบคลุมการป้องกันและปราบปรามได้ผลดีกว่าและมีหน้าที่ในการกำหนดการเยียวยาที่เหมาะสมกับผู้เสียหายและญาติ

“โดยเมื่อวันพุธที่ 19 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา คณะกมธ.วิสามัญฯได้ประชุมไปกว่า 30 ครั้งแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 แต่ยังไม่สามารถมีข้อสรุปว่า จะปิดเล่มส่งเข้าสู่สภา เมื่อใดเพราะยังมีความไม่เห็นพ้องในประเด็นต่าง ๆ ข้างต้น จึงจะนัดประชุมอีกครั้งเพื่อให้มีข้อสรุปให้ทันการเสนอเข้าสภาในสมัยประชุมนี้ที่จะสิ้นสุดในปลายเดือนก.พ.65 เพราะกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายที่สำคัญสำหรับประชาชนและต่อตัวเจ้าหน้าที่ที่จะยืนยันว่าประเทศไทยต้องมีกฎหมายทำให้การทรมานและการอุ้มหายเป็นความผิดทางอาญาและต้องห้ามโดยเด็ดขาด” น.ส.พรเพ็ญ กล่าวทิ้งท้าย.