สื่อมวลชนไทย ตั้งฉายาให้ “บาส-ปอป้อ”  เดชาพล พัววรานุเคราะห์ และ ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย นักแบดมินตันคู่ผสมมือ 1 ของโลก ว่าเป็น “คู่ขนไก่สะท้านโลก” แต่ผมเห็นว่า ในแวดวงกีฬาโลก ทั้งคู่น่าจะได้อีกรางวัลหนึ่ง นั่นคือรางวัลคัมแบ๊กยอดเยี่ยมแห่งปี เพราะเป็นการ “คัมแบ๊กสะท้านโลก” อย่างน่าทึ่ง

            คงจำกันได้ว่า ต้นปีที่ผ่านมา “บาส-ปอป้อ” สร้างความฮือฮา ด้วยการคว้า 3 แชมป์ต่อเนื่องรายการที่ใหญ่บ้านเรา จนกลายเป็นความหวังในกีฬาโอลิมปิก 2020 “โตเกียวเกมส์” ที่ญี่ปุ่น แต่ทั้งคู่กับพลาดในรอบก่อนรองฯ ซึ่งผมได้อยู่ในสนามแข่งทำข่าวในวันนั้นด้วย

            ได้เห็นความผิดหวังอย่างแรง และมี “น้ำตา” แห่งความเสียใจ อย่างไรก็ตามทั้งคู่ก็ให้สัญญาว่า จะกลับสู่เส้นทางของตัวเอง และกลับมาล่าความฝันในโอลิมปิกครั้งหน้า คือกีฬาโอลิมปิก 2024 “ปารีสเกมส์” ให้ได้

            และทั้ง “บาส-ปอป้อ” ก็กลับมาอย่างยิ่งใหญ่จริง ๆ จนทำให้ผมอยากมอบรางวัล “คัมแบ๊กยอดเยี่ยมแห่งปี” ให้ทั้งคู่ 

            ผู้ปิดทองหลังพระ “เอสซีจี แบดมินตัน อะคาเดมี” ที่ประกอบด้วย ทีมวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งมี ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ เป็นแม่ทัพ และทีมผู้ฝึกสอนที่มี “โค้ชโอม” เทศนา พันธ์วิศวาส เป็นหัวหน้า เปิดที่มาสู่ 8 แชมป์ของ “บาส-ปอป้อ”  จนขึ้นบัลลังก์คู่มือ 1 โลกไว้อย่างน่าสนใจ และเป็นบทเรียนที่ดี ให้นักกีฬารายอื่น ๆ ได้เรียนรู้

            ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ เปิดเผยว่า จุดสำคัญคือการ “เรียนรู้และแก้ไขจากความผิดพลาด” เพราะการคว้า 3 แชมป์ต่อเนื่องเมื่อต้นปี 2021  ความสำเร็จดังกล่าวกลายเป็นดาบสองคม ที่แม้ทั้งคู่จะสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองจากชัยชนะที่ได้รับ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแบกรับความกดดันจากความหวังของคนไทยทั้งประเทศ

การลงสู้ศึกโอลิมปิกเกมส์ 2020 ในอีก 6 เดือนถัดมา บวกกับการเสพข่าวสารจากสื่อโซเชียลที่มีทั้งเสียงชื่นชม และคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ นานา ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอย่างไม่รู้ตัว ผลก็คือ “บาส-ปอป้อ”ไม่สามารถเล่นอยู่ในฟอร์มของตัวเองได้จนทำให้ตกรอบก่อนรองชนะเลิศ

“นักกีฬาระดับโลก ต่างมีทักษะและฝีมือการเล่นที่ไม่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่เป็นตัวชี้ขาดในชัยชนะคือ เรื่องของจิตใจและการมีสมาธิกับเกมส์การเล่น เราต้องอยู่กับปัจจุบัน อย่าไปคิดถึงผลแพ้ชนะ อย่ายึดติดกับอดีต หรือคิดถึงอนาคต ไม่ต้องสนใจสิ่งที่เสียไปแล้ว หรือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่ให้เราโฟกัสในแต่ละแต้มที่เล่นเท่านั้น” ศ.ดร.เจริญ กล่าว

นอกจากนั้นยังใช้บทเรียนจากโอลิมปิกเกมส์ ทำให้ทีมงานได้วางแผนการฝึกซ้อมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ที่แม้ทั้งคู่จะลงแข่งขัน 9 รายการในระยะเวลา 3 เดือนติดต่อกันจนสภาพร่างกายเริ่มแสดงความอ่อนล้าให้เห็น แต่สภาพจิตใจทั้งสองคนกลับนิ่งและมีสมาธิในเกมส์การแข่งขันได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งทั้ง “บาส-ปอป้อ” ได้ช่วยกันเล่น ช่วยกันคิด ช่วยเตือนสติกันและกันในสนามแข่งขันไม่ว่าจะตกอยู่ในสภาวะกดดันแค่ไหนก็ตาม

 “ความนิ่งจะทำให้ทุกอย่างเป็นธรรมชาติ อะไรที่ตั้งใจไม่ใช่ธรรมชาติ เช่นตั้งใจเล่น จะทำให้เกิดความเกร็งไม่เป็นธรรมชาติ”

ขณะที่การเตรียมความพร้อมจะเน้นรายละเอียดสำคัญด้านร่างกายและเทคนิคทักษะที่เราเตรียมไว้สำหรับการเล่นมากขึ้น ส่วน “ปอป้อ” ที่ลงเล่นทั้งประเภทคู่ผสมและหญิงคู่ ก็จะต้องมีสภาพร่างกายที่ฟิตหรือแข็งแกร่งเป็นพิเศษกว่าคนอื่น

 ก่อนไปแข่งขัน เราไม่ได้คาดหวังอะไรไกลเกินตัว ไม่สอนให้นักกีฬาเล่นเพื่อชัยชนะ แต่ให้อยู่กับปัจจุบัน เราให้ความสำคัญกับกระบวนการ รูปแบบ วิธีการเล่น ถ้าเล่นได้ตามขั้นตอน ผลลัพธ์จะออกมาตามที่ต้องการแน่นอนเสมอ นี่คือหลักของวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ทุกอย่างสามารถวัดผลและประเมินผลได้” ศ.ดร.เจริญ กระบวนรัตน์ กล่าวย้ำ

         จากการ “คัมแบ๊กที่ยอดเยี่ยม” นี้ ก็หวังว่า จะเป็นบทเรียนที่ดี อีกบทหนึ่ง ให้นักกีฬาไทยคนอื่น ๆ ได้ไปศึกษา เรียนรู้ได้เป็นอย่างดี แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่า เป็นต้นทุนที่ยอดเยี่ยมของทั้งคู่ด้วย นั่นคือ

            สภาพจิตใจ หัวใจนักสู้ ความมุ่งมั่น ที่แกร่งเหลือล้น จริง ๆ

                                                                                    “คม ท่าดี”