หลังหมดหน้าฝน เข้าสู่หน้าหนาว อากาศแห้ง ปัญหามลพิษ ฝุ่นควันพิษทางอากาศ เริ่มจะกลับมาตลบอบอวลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็น จ.นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร จนแทบจะกลายเป็นเรื่องชินชาเพราะปริมาณ
ฝุ่น PM 2.5 แพร่กระจายในพื้นที่ จนบางวันแทบจะกลายเป็นเมืองในหมอก แม้ในปีที่ผ่านมาจะมีการทำงานที่บ้าน เนื่องจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปริมาณฝุ่น PM 2.5 ไม่มีทีท่าจะลดลง

สิ่งนี้ถือเป็นเรื่องที่เราต้องกลับมาขบคิดแก้ไขว่าที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นตรงจุดหรือไม่?

ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล

“PM2.5” ยังมีปริมาณมากในกทม.

ทีมข่าว 1/4 Special Report พูดคุยกับ ศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดี ด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรมและความยั่งยืน และอาจารย์ประจำภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะ PM 2.5 ถ้าย้อนกลับไป 7-8 ปี ที่ผ่านมา ค่าความหนาแน่นของฝุ่นยังอยู่ในอัตราคงที่ แม้ 2 ปีหลังเราจะเจอปัญหาโควิด-19 แต่ก็ไม่ทำให้ฝุ่นในพื้นที่ลดลง สิ่งนี้บ่งบอกว่า จุดกำเนิดของฝุ่นอาจไม่ใช่แค่ปัญหาการจราจร เพราะบางช่วงที่มีการล็อกดาวน์ทำงานที่บ้าน แต่ปริมาณฝุ่นก็ยังหนาแน่นอยู่ ส่วน ฝุ่นที่มีขนาดใหญ่ เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตา จากสถิติพบว่า มีปริมาณที่ลดลง เนื่องจากช่วงโควิดสถานที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ต้องหยุดทำงาน เลยทำให้แหล่งกำเนิดฝุ่นประเภทนี้ลดลง

จากสถิติการตรวจวัดปริมาณฝุ่นตลอดทั้งปี ทำให้เห็นว่า ฝุ่นที่มีขนาดเล็ก หรือ PM2.5 น่าจะมีปัจจัยการกำเนิดจากเหตุอื่น ๆ ที่มากกว่าปัญหาการจราจร ที่เราคิดว่าเป็นต้นเหตุมาตลอด ดังนั้นปัญหาเรื่องฝุ่น จึงกลายเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา และไม่ได้หายไปไหนจนอาจสร้างปัญหาในด้านสุขภาพได้ ด้วยความที่กรุงเทพฯ เพิ่งมีค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 เกิดขึ้นเมื่อ 7-8 ปี ในอดีตเราไม่เคยมีค่ามาตรฐาน ที่เป็นค่ากลางในการประเมินปัญหาฝุ่น และเมื่อวัดแล้วเราจึงพบว่า ปัญหาฝุ่นถือเป็นปัญหาเรื้อรังอย่างมาก จนคล้าย ๆ กับฤดูกาลที่จะหมุนวนกลับมาในทุกปี

โดยสิ่งสำคัญของการเกิดฝุ่น PM 2.5 เป็นเหตุมาจากแหล่งกำเนิด และสภาพอากาศ เช่น เมื่อเข้าสู่หน้าหนาว จะทำให้มีฝุ่นมาก ขณะเดียวกันก็มาจากสภาพพื้นที่ เพราะปัจจุบันกรุงเทพฯ มีตึกสูงค่อนข้างมาก ทำให้การถ่ายเทของลมไม่สะดวก ถ้าหากปริมาณฝุ่นขนาดนี้ไปเกิดในพื้นที่ต่างจังหวัด อาจไม่ได้รุนแรงเท่ากับในกรุงเทพฯ อีกปัจจัยสำคัญคือ พื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ ตอนนี้เฉลี่ยแล้ว มี 6 ตารางเมตรต่อคน ถือว่าต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า ต้องมีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 9 ตารางเมตรต่อคน สิ่งนี้จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่น และจะต้องรีบหาทางแก้ไขอย่างถูกต้อง

จากการทำงานเก็บข้อมูลพบว่า พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องฝุ่นอันดับแรกคือ กรุงเทพฯ ซึ่งมีปริมาณฝุ่นในอากาศสูงอยู่ตลอด ขณะที่พื้นที่ปริมณฑล เช่น จ.นนทบุรี มีพื้นที่สีเขียวแค่ 3 ตารางเมตรต่อคน ทำให้เจอกับสภาวะฝุ่นมากขึ้น ส่วน จ.สมุทรปราการ จะมีปัญหาเกี่ยวกับฝุ่นในโรงงานหนาแน่น ขณะที่ปทุมธานี มีปัญหาที่เกิดจากฝุ่นที่มากับการจราจร ส่วน จ.เชียงใหม่ เริ่มพบฝุ่นหนาแน่นกว่าจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นผลมาจากหมอกควันที่พัดข้ามชายแดนมา ประกอบกับควันที่เกิดจากการเผาทางการเกษตร ขณะที่จ.น่าน เป็นแหล่งรับฝุ่นควันที่หลายคนไม่ทราบเพราะส่วนใหญ่ลมจะพัดนำฝุ่นควันเข้ามา

หนุนวางแผนแก้ปัญหาระยะยาว

ศ.ดร.พิสุทธิ์ มองอีกว่า ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชากร เพราะปกติมนุษย์ต้องการอากาศบริสุทธิ์ประมาณ  7– 21 ลิตรต่อคนต่อนาที สิ่งนี้หมายความว่าทุก 1 นาที คนต้องการอากาศบริสุทธิ์ประมาณ 14 ลิตร ดังนั้นถ้าเราไม่ได้รับอากาศบริสุทธิ์จะส่งผลต่อสุขภาพ ในระยะยาว ขณะเดียวกันในแต่ละปีมีประชากรโลกที่เสียชีวิตจากมลพิษอากาศเฉลี่ย 9–10 ล้านคนต่อปี ซึ่งอินเดียเป็นประเทศ ที่มีปัญหามากที่สุด เฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตประมาณ 70–80 คนต่อประชากร 1 แสนคน ส่วนประเทศไทยเฉลี่ย 20–30 คนต่อประชากร 1 แสนคน น่าสนใจว่าแต่เดิมจีนมีปัญหานี้มากพอ ๆ กับอินเดีย

สำหรับกรุงเทพฯ การแก้ปัญหาเรื่องฝุ่น ด้วยความที่เดิมเราไม่มีสถิติค่าฝุ่นที่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เราก็ค่อย ๆ เก็บข้อมูล และตั้งเป็นค่ามาตรฐานเพื่อรวบรวมสถิติเพื่อนำไปแก้ไข  ดังนั้นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ควรจะเข้าไปแก้ไขในต้นเหตุแหล่งกำเนิด โดยพยายามป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือนำมาตรฐานต่าง ๆ เข้ามาควบคุม ส่วนการแก้ปัญหาในระยะกลาง จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเพราะถ้าเรารู้แล้วว่า สาเหตุของการจราจรเป็นปัจจัย การทำความเข้าใจและให้ความรู้กับประชาชน เพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานหรือการใช้ชีวิตจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ภาครัฐต้องมองไปถึงประเด็นการแก้ไขสภาพอากาศให้มีความบริสุทธิ์ได้อย่างไร หรือการเข้ามาดูแล แก้ไขในเรื่องของผังเมือง ที่จะช่วยให้มีการระบายของฝุ่นได้มากขึ้น เช่นเดียวกับ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ภายในกรุงเทพฯ อย่างมีความสำคัญได้อย่างไร เนื่องจากการสร้างพื้นที่สีเขียวจะต้องใช้ระยะเวลาในการสร้าง จึงต้องมีการวางแผนในระยะยาวเพื่อรองรับ ตอนนี้การแก้ปัญหาของกรุงเทพฯ ยังอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว เพราะกรมควบคุมมลพิษ เข้ามารับผิดชอบในเรื่องของกฎหมายสะอาด ในอังกฤษและอเมริกา มีกฎหมายนี้มาตั้งนานแล้ว ไทยกำลังทำอยู่ให้เป็นรูปธรรม
มากขึ้น

ดูโมเดลจีนต่อต้านมลพิษปี 2014

ขณะเดียวกันก็มีแอพพลิเคชั่น ที่คอยตรวจวัดปริมาณฝุ่นในจุดต่าง ๆ แล้วรายงานล่วงหน้าผ่านระบบออนไลน์ การทำจุดตรวจวัดสภาพอากาศที่ทำอยู่ต้องใช้เงินจุดละ 10 ล้านบาท แต่ถ้าหากอยากให้ได้ผลดี ต้องมีการตั้งจุดตรวจวัดทั่วประเทศประมาณหมื่นกว่าจุด ดังนั้นจึงต้องใช้เงินมหาศาล แต่ข้อมูลจากจุดวัดนั้นนอกจากจะเตือนประชาชนแล้ว ยังเป็นข้อมูลสถิติที่ภาครัฐสามารถนำไปพัฒนาแก้ไข เพื่อให้มีอากาศที่สะอาดมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น จีน มีการแก้ไขปัญหา โดยใช้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้มีสภาพอากาศที่ดีขึ้น มีการ ประกาศสงครามต่อต้านมลพิษ ในปี ค.ศ. 2014 รัฐสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศทั้งหมด ว่ากันว่าต้องปิดไปกว่า 2 หมื่นแห่ง และออกกฎหมายห้ามนำรถยนต์ที่ไม่ได้มาตรฐานมาใช้ ที่ในช่วงเริ่มต้น 3–4 ปีแรก มีกว่า 20 ล้านคัน ถูกสั่งห้ามนำออกมาวิ่งบนถนน ประเด็นนี้เป็นอีกการแก้ไขที่ไทยควรนำมาปรับใช้ รวมถึงปิดกิจการที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 7 หมื่นแห่ง แม้โรงงานไม่ได้ใช้ถ่านหิน แต่ถ้าโรงงานมีฝุ่นไม่ได้มาตรฐานจะถูกปิด นอกจากนี้ จีนยังได้ปรับเปลี่ยนให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น และยังรณรงค์ให้แต่ละครัวเรือนหันมาใช้ไฟฟ้าและแก๊สจากธรรมชาติ เพราะเดิมหลายครอบครัวจะใช้เตาถ่านที่อาจทำให้เกิดฝุ่น

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะเกิดขึ้น อยากให้มองเห็นถึงปัญหาเรื่องฝุ่น และพยายามแก้ไขด้วยพื้นฐานข้อมูลที่มากขึ้น การลงทุนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คอยเก็บข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ จากนั้นจึงจะต้องเริ่มสร้างแพลตฟอร์ม ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการใช้ชีวิตแต่ละวันได้ เพราะตอนนี้ระบบตรวจวัดสภาพอากาศที่มีอยู่ยังไม่ได้ถี่มากพอ หลังจากนี้เมื่อมีข้อมูล การจะออกกฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานร่วมกับข้อมูลที่มี.