ต่อสภาพการณ์ดังกล่าว กระแสแฟชั่นแบบยั่งยืนที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นเครื่องบ่งบอกว่า ขณะที่เราใฝ่หาความสวยงาม จะอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้อย่างไร ?

คุณจางเลี่ยงหลิง ผู้ก่อตั้ง picupi แพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมแนวคิดของแฟชั่นแบบยั่งยืนเป็นแห่งแรกของไต้หวัน เมื่อปี 2561 โดยพลิกผันตัวเองจากผู้ที่คอยผลักดันแบรนด์เนมระดับเลิศหรู กลายเป็นขุนพลแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อพาตัวเองออกมาจากสื่อแฟชั่นกระแสหลัก “มาตรฐานด้านความงาม” ภายในใจของจางเลี่ยงหลิงก็เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก

ความคิดเริ่มแรกในการย่างเท้าเข้าสู่เส้นทางแห่งการผจญภัยในการก่อตั้งธุรกิจ เป็นอะไรที่เรียบง่ายมาก ๆ “หากคุณรักในอุตสาหกรรมนี้ ก็ควรจะต้องคิดดูว่าจะทำยังไงที่จะเปลี่ยนมันให้ดีกว่าเดิม” จางเลี่ยงหลิงยังบอกอีกว่า “มิใช่เพียงแค่แสวงหาผลประโยชน์จากการบริโภคอย่างไม่หยุดหย่อน ตามแนวคิดในแบบทุนนิยมเท่านั้น แต่เราต้องหาจุดสมดุลระหว่างแฟชั่นกับสิ่งแวดล้อมให้พบ”

แม้ว่าสโลแกนเกี่ยวกับแฟชั่นแบบยั่งยืน (Sustainable Fashion) จะถูกหยิบยกมากล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งมากในช่วงหลายปีมานี้ หากแต่ภาคอุตสาหกรรมยังไม่สนใจที่จะดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่เน้นความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และในขณะเดียวกันต้องตอบโจทย์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเกิดกระแสนิยมด้านการรีเมคขึ้นมา

ไต้หวันเป็นผู้ผลิตผ้าผืนรายใหญ่ของโลก ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากกระแสแห่งการผลิตเป็นจำนวนมาก ๆ โดยเมื่อผลิตออกมามากเกินไป ก็จะมีผ้าค้างอยู่ในสต็อกเป็นจำนวนมหาศาล รวมไปจนถึงเศษผ้า ผ้าตัวอย่าง ผ้าที่ตกรุ่น สินค้าไม่ผ่าน QC ซึ่งต่างก็ไม่สามารถนำไปใช้งานได้อีก และในท้ายที่สุดก็จะต้องถูกทิ้งไป

แนวคิดของ “ธนาคารผ้า” ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นที่รวบรวมของบรรดาผ้าที่ไม่มีคนสนใจ และกลายมาเป็นทางออกใหม่ของผ้าที่กำลังจะถูกทิ้งเหล่านี้

สถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ITRI) ได้เลือกให้นครไถหนาน ที่เป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสิ่งทอมาเป็นฐานสำคัญ ก่อนจะสร้างความร่วมมือกับมูลนิธิอนุรักษ์และฟื้นฟูเมืองแห่งประวัติศาสตร์ (Foundation of Historic City Conservation and Regeneration: FHCCR) และผู้ประกอบการท้องถิ่น ในการจัดตั้งแพลตฟอร์มเสมือนจริง นอกจากจะมีวางขายบนช่องทางออนไลน์แล้ว ยังมีหน้าร้านเปิดให้ผู้บริโภคสามารถมาเลือกซื้อสินค้าได้ ณ ที่ทำการของมูลนิธิด้วย

ด้านมูลนิธิเกาหลิน (Kaulin Foundation) ที่บริษัทแม่เป็นผู้ผลิตจักรเย็บผ้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมระดับแนวหน้าของไต้หวัน ก็ได้ริเริ่มดำเนินโครงการ “ตัดเย็บใหม่” เพราะทางโรงงานมักจะมีเศษผ้าที่เกิดขึ้นจากการทดลองใช้เครื่องเย็บผ้าเป็นจำนวนมาก

คุณหลินอวี้เจิน ผู้บริหารของมูลนิธิแห่งนี้ กล่าวว่า แม้การรีเมคจากขยะจะถือเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของตลาดเสื้อผ้าแฟชั่น แต่“ขอเพียงมีผลงานของดีไซเนอร์เพียง 1 ใน 10 ชุดที่มีแนวคิดเช่นนี้ ก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขารับรู้ได้ถึงประเด็นนี้ และทำให้พวกเรารู้สึกว่า สามารถบรรลุผลสำเร็จ ตามเป้าหมายในการให้ความรู้แก่ทุกคน”.

ข้อมูลจาก Taiwan Panorama

เลนซ์ซูม