หลายสิบปีที่ผ่านมา นอกจากจะประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้ศิษยานุศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ซึ่งสำเร็จออกไปประกอบอาชีพในหลากหลายสาขาวิชาชีพ ทั้งการต่างประเทศ สื่อสารมวลชน การศึกษา เศรษฐกิจและการค้า ฯลฯ ศาสตราจารย์อาวุโสผู้ “หลงใหล” ในสาขาวิชาภาษาและวรรณกรรมไทยท่านนี้ยัง “คลั่งไคล้” การแปลวรรณคดีจีนระดับคัมภีร์อีกมากมายหลายเรื่อง อาทิ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ลั่วหยางสังฆารามรำลึก และ ปัญจพุทธปทีป

ผลงานแปลของศาสตราจารย์ชิวได้รับคำยกย่องจากบรรณพิภพ และวงการแปลของไทยอย่างมิขาดสาย ทั้งยังจุดประกายให้เกิดการอภิปรายและการเทียบเคียงด้านวรรณคดี วัฒนธรรม และอารยธรรมจีนโบราณ ในหมู่ผู้รักภาษาและวัฒนธรรมจีน

“บนเส้นทางสายไหมที่ดาริกาหมุนเวียนเปลี่ยนผันทุกทิวาราตรีนับพันปีที่ผ่านมา ภาษาเป็นเครื่องมือแบกรับวัฒนธรรม ขณะที่วรรณคดีเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนระหว่างอารยธรรม” ศาสตราจารย์ชิว อาจารย์ที่ปรึกษาบัณฑิตระดับปริญญาเอกของวิทยาลัยภาษาเอเชีย มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง ซึ่งเกษียณอายุงานแล้วกล่าวว่า “การสอนภาษาไทยและการแปลวรรณคดี เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวอารยธรรมจีนให้ดีนั้น เป็นสิ่งที่ดิฉันหลงใหลและยืนหยัดมาโดยตลอด”

เมื่อปี 2530 ศาสตราจารย์ชิวได้ตอบรับคำเชิญจากนายทวีป วรดิลก นักประวัติศาสตร์ นักเขียนและกวีชื่อดังชาวไทย ให้แปลเรื่องสั้นของกัวโม่รั่ว เรื่อง อวสานทรราช ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์ในสิ่งพิมพ์ด้านวรรณกรรม โดยมิได้มีการปรับเปลี่ยนคำแม้แต่เพียงน้อย

การแปลวรรณกรรมจีนเป็นภาษาไทยอย่างแท้จริง เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กวีคนสำคัญของไทยเป็นแม่กองกำกับการแปล สามก๊ก เป็นภาษาไทย ซึ่งก็ล่วงเลยมากว่าสองศตวรรษแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วรรณกรรมจีนเชิงนิยายเช่น สามก๊ก ไซอิ๋ว ไซ่ฮั่น และ ซ้องกั๋ง ก็ถูกเผยแพร่สู่สายตาผู้อ่านชาวไทยแทบทุกครัวเรือน จนกลายเป็นนิยายจีนอันโด่งดัง ทั้งยังเป็นต้นแบบของผลงานนิยายดัดแปลงในเวลาต่อมา

ศาสตราจารย์ชิวบ่มเพาะลูกศิษย์ลูกหาโดยไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยาก ขยันหมั่นเพียรผลิตงานแปลทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง กระทั่งเมื่อปี 2547 ผลงานแปลเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง ก็ได้รับการตีพิมพ์ในประเทศไทยหลังใช้เวลาแปลอยู่นานถึง 4 ปี นับเป็นผลงานแปลภาษาต่างประเทศฉบับสมบูรณ์และเป็นเอกเทศชิ้นแรกของนักวิชาการชาวจีน

นับตั้งแต่นั้นมา นักอ่านชาวไทยที่คุ้นเคยกับ “เรื่องเล่าของพระถังซำจั๋ง” จึงได้ประจักษ์ถึงต้นแบบของประวัติศาสตร์และบันทึกอันยอดเยี่ยมของพระอาจารย์เสวียนจั้ง พระเถระผู้แตกฉานในพระธรรมและนักแปลคัมภีร์พุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2553 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์ชิว ซูหลุนได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาภาษาไทย ท่านจึงเป็นนักวิชาการชาวต่างชาติคนที่สอง ซึ่งได้รับเกียรตินี้จากประเทศไทย

เมื่อปี 2553 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในปีนั้น ศาสตราจารย์ชิว ซูหลุนได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาวิชาภาษาไทย ท่านจึงกลายเป็นนักวิชาการชาวต่างชาติคนที่สอง ซึ่งได้รับเกียรตินี้จากประเทศไทย

ต่อมาในปี 2555 สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยได้มอบรางวัลสุรินทราชา อันเป็นรางวัลนักแปลดีเด่นระดับประเทศให้กับท่าน เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ ในฐานะผู้มีคุณูปการต่องานแปลวรรณกรรมของไทย

ผลงานแปลภาษาไทยสองเรื่องของศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน ได้แก่ จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง และ ลั่วหยางสังฆารามรำลึก

หลังจากแปลเรื่อง จดหมายเหตุการเดินทางสู่ดินแดนตะวันตกของมหาราชวงศ์ถัง แล้วเสร็จ ศาสตราจารย์ชิวได้ใช้เวลาอีก 10 ปีในการแปลวรรณดคีเรื่อง “ลั่วหยางสังฆารามรำลึก” หนึ่งในวรรณคดีสองเรื่องที่ถูกเปรียบดังหยกล้ำค่าแห่งยุคราชวงศ์เหนือ รวมถึงยังได้แปลหนังสือเรื่อง ปัญจพุทธปทีป วรรณกรรมยิ่งใหญ่ของนิกายเซนในวัฒนธรรมจีน หนังสือแปลเล่มแรกเมื่อพิมพ์ออกเผยแพร่ก็มีเสียงตอบรับจากผู้อ่านอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ส่วนเล่มหลังนั้นปัจจุบันใกล้จะแล้วเสร็จ

ขณะนี้ ศาสตราจารย์ชิวกำลังแปลวรรณคดีเรื่อง “ความฝันในหอแดง” ผลงานชั้นเอกอีกชิ้นหนึ่งของวงการแปล “ทุกถ้อยคำในหนังสือเรื่องความฝันในหอแดง จำเป็นต้องขัดเกลาขัดสำนวนแปล กลอนแต่ละบทล้วนมีนัยลึกซึ้งแอบแฝง ต้องแปลทั้งเนื้อความที่ปรากฏและความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใน สำนวนภาษาที่แปลออกมาต้องซ่อนเร้นความนัยอันลึกซึ้งได้อย่างแยบยล เช่นนี้แล้ว ความคืบหน้าในการแปลโดยรวมจึงค่อนข้างล่าช้า หากแต่ ‘ช้า’ ในที่นี้ เป็นเพราะมุ่งหมายให้ผู้อ่านชาวไทยเข้าใจและซึมซับวรรณคดีชิ้นนี้ได้ ‘รวดเร็ว’ ยิ่งขึ้น”

สมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทยมอบรางวัลสุรินทราชา ให้กับศาสตราจารย์ชิว ซูหลุน เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2555

ศาสตราจารย์ชิวไม่เพียงแต่ใช้การแปลวรรณกรรม เพิ่มพูนความเข้าใจอันลึกซึ้งระหว่างสองประเทศเท่านั้น เพราะในความเป็นจริงแล้ว เมื่อ 30 กว่าปีก่อน ท่านได้เริ่มส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิดในวงการการศึกษาจีน-ไทย ผ่านสารพัดวิธี

ครั้งหนึ่งระหว่างรับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยที่เสด็จฯ เยือนประเทศจีน ศาสตราจารย์ชิวผู้ทำหน้าที่ล่ามได้สร้างความประทับใจให้แก่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (ขณะนั้นคือวิทยาลัยครูเชียงใหม่) ด้วยทักษะล่ามภาษาระดับมืออาชีพ และด้วยการเป็นสะพานเชื่อมสัมพันธ์ของศาสตราจารย์ชิวนี้เอง ในปี 2533 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง จึงได้ก่อตั้งความสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนระหว่างกันขึ้น และสืบสานยาวนานมากว่า 30 ปีแล้ว

จีนและไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน เมื่อปี 2518 ในปีเดียวกันนี้ ศาสตราจารย์ชิวได้เป็นอาจารย์สอนภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศปักกิ่ง อย่างเป็นทางการ

“จีนไทยมีอาณาเขตใกล้เคียง มีมานุษยวัฒนธรรมที่ใกล้ชิดแนบแน่น ความเข้าใจในการศึกษาจึงชิดใกล้กันมากขึ้นด้วย” ศาสตราจารย์ชิวกล่าว “ด้วยเหตุนี้ดิฉันจึงหวังว่า จะใช้ภาษาเป็นสื่อกลางสำหรับการเรียนการสอนในชั้นเรียนและการแปลวรรณกรรม เพื่อให้ผู้คนเข้าใจปรัชญา ความคิด แนวคิดและภูมิปัญญาจีน หรือกระทั่งวิถีปฏิบัติและการวางตัวของชาวจีนมากยิ่งขึ้น สิ่งนี้คือแก่นแท้ของการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการเล่าเรื่องราวของจีนเองให้ดี ให้โลกเข้าใจจีนได้แจ่มแจ้งถูกต้อง”.

ขอขอบคุณ ภาคภาษาไทย สำนักข่าวซินหัว